xs
xsm
sm
md
lg

“ชาติชาย พยุหนาวีชัย” นำพาออมสินสู่ธนาคารของประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นับจากคุณ “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” เข้ามารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในปี 2558 ซึ่งในฐานะที่เป็นผู้บริหารที่มาจากธนาคารพาณิชย์ ทำให้เป็นที่จับตามองถึงทิศทางของธนาคารออมสิน อันเป็นธนาคารลำดับต้นๆ ของภาครัฐว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร...จวบจนกว่า 2 ปีผ่านไป เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้นของธนาคารแห่งนี้ จึงได้แวะมาขออัปเดตถึงเรื่องราวต่างๆ ณ ปัจจุบันนี้ และในอนาคตกับคุณชาติชาย กันสักครั้ง
 
- เริ่มจากมุมมองเศรษฐกิจไทยปีนี้

ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันคาดการณ์ค่อนข้างยาก เพราะท่ามกลางเศรษฐกิจโลกผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก แต่ก็ค่อนข้างโชคดีที่ไตรมาสแรก การส่งออกขยายตัวดีขึ้นพอสมควร ขณะที่อัตราการเติบโตของจีดีพี ก็ประมาณ 3.3-3.5% ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง แต่ก็ได้ผ่านจุดที่ต่ำสุดมาแล้ว เป็นช่วงที่เราทรงๆ แต่ก็จะเห็นว่า ปีที่แล้ว กับปีนี้แตกต่างกัน ปีที่แล้วผลกระทบเศรษฐกิจไทยมาจากเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ มีภัยธรรมชาติ ทั้งภัยแล้งในส่วนของพื้นที่ภาคกลาง และน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ผู้ค้าขายที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ขายของไม่ได้ ผู้ซื้อไม่มีกำลังซื้อ เศรษฐกิจปีที่แล้วก็เลยดูซึมๆ ทางภาครัฐก็เลยให้ธนาคารออมสิน ลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ก็จะมีเงินกู้ฉุกเฉินรายละ 50,000 บาท กองทุนหมู่บ้านต่างๆ ปรับลดดอกเบี้ย ทำให้เศรษฐกิจฐานรากกระตุ้นขึ้นมาได้ ส่วนในปีนี้ราคาพืชผลดีขึ้น ภัยธรรมชาติยังไม่มีปัญหา เศรษฐกิจฐานรากก็ดูดีขึ้น การส่งออกดีขึ้น รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังดีอยู่ ทำให้ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ดูดี แต่ก็ต้องลุ้นต่อไปในช่วงที่เหลือของปีว่า ปัจจัยต่างๆ จะยังดีอยู่ต่อเนื่องหรือไม่

นอกจากนี้ เราก็มีตัววัดที่ดีอีกเรื่องก็คือ ดัชนีเศรษฐกิจฐานรากที่จัดทำโดยธนาคารออมสิน เป็นตัววัดความรู้สึก ความเชื่อมั่นของเขาว่า เป็นอย่างไร ซึ่งถ้าตัวเลขเกิน 50% ขึ้นไป ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ตอนนี้อยู่ที่ 46% แต่อีก 6 เดือนข้างหน้า อยู่ 48% ก็ถือว่าเขามองในสถานการณ์ข้างหน้าในแนวโน้มที่ดีขึ้น ออมสินปล่อยสินเชื่อเศรษฐกิจอัตราเติบโตอัตราต่ำลงจากปีก่อน และดูได้จากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลของเราที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง แสดงว่าเศรษฐกิจรากหญ้าเขามีรายรับที่ดีทำให้มีหนี้ค้างกับเราน้อยลง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งต้ววัดที่มีแนวโน้มดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องใช้แรงกระตุ้นเพิ่มเติมอยู่ ดังจะเห็นได้จากเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้มีการขอให้ธนาคารต่างๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง MLR MOR และ MRR ลง ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อย่างธนาคารออมสิน ก็ลด MMR เหลือ 7.0% ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ที่จะอยู่ในระดับ 7.125-7.25% ก็ถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทาง ขณะที่ลูกค้าของธนาคารเองที่ส่วนใหญ่เป็นรายกลาง และรายย่อยก็ได้รับประโยชน์จากการณ์นี้ด้วย

- บทบาท และแนวทางการดำเนินงานของธนาคารออมสิน

อันดับแรก เราเป็นธนาคารของรัฐที่สามารถทำธุรกิจได้คล้ายกับธนาคารพาณิชย์ แต่จะดูกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ค่อยได้ดูแล อย่างกลุ่มรายย่อย กลุ่มเศรษฐกิจฐานรากประมาณนี้ อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นการปล่อยกู้ให้ภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจด้วยกันในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมา ก็จะมีนโยบายเชิงคุณภาพที่ช่วยเหลือเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ล่าสุด เดือน เม.ย.-พ.ค. ก็มีให้มีการลงทะเบียนสวัสดิการรัฐ 3,760,000 ราย ทำประมาณ 45 วัน ให้ผู้มีรายได้น้อยได้รับสวัสดิการของรัฐ อีกเรื่องก็คือ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งก็มีผู้มาลงทะเบียน 150,000 ราย อนุมัติไป 10,000 กว่ารายแล้ว และหลังจากหมดกรณีลงทะเบียนคนจนแล้ว ก็จะมาโหมในส่วนนี้เพื่อให้กู้แก่ลูกหนี้นอกระบบเป็นสินเชื่อเผื่อฉุกเฉินรายละ 50,000 บาท วงเงินรวม 5000 ล้านบาท ภายในเดือน มิ.ย. หรือต้น ก.ค. ก็น่าจะเสร็จตามวงเงิน

นอกจากนี้ ก็ยังมีโครงการธนาคารผู้สูงอายุ ที่อยู่ในภาวะที่เพิ่มเริ่มต้น อันนี้ก็ถือเป็นโครงการช่วยเหลือสังคม เพื่อรองรับสังคมสูงวัยของปีในปี 2568 ที่จะมีผู้สูงวัย หรือผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ถึง 20% หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 20 ล้านคน นั่นหมายถึงคนวัยทำงาน 3 คน จะดูแลผู้สูงวัย 1 คน ซึ่งก็ทำให้ผู้สูงวัยเองก็ต้องมีการเตรียมพร้อมด้วยเช่นกัน ซึ่งเราก็มีแนวทางต่างๆ เพื่อรองรับ อย่างกรณีของผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี แต่ยังดำเนินอาชีพต่างๆ อยู่ อาทิ ค้าขาย ให้กู้ต่อไปถึงอายุ 70 ปี แล้วก็มีสินเชื่อเคหะกตัญญูบุพการี เป็นการลดดอกเบี้ยให้กับลูกหลานที่ดูแลอุปการะบุพการีลดดอกเบี้ยให้ 0% ในปีแรกเลย มีผลิตภัณฑ์เงินฝากสำหรับผู้สูงอายุที่จะได้รับดอกเบี้ยพิเศษ เป็นต้น

และที่กำลังจะออกมาแล้วก็สินเชื่อบ้านย้อนกลับ (Reverse Mortgage) เป็นการเอาบ้านกลับมาจำนองใหม่ เพราะก่อนจะเป็นผู้สูงอายุมีรายได้ก็ผ่อนบ้านมา พอถึงอายุ 60 ปี ผ่อนบ้านหมด รายได้ก็หมดไปด้วย เงินที่จะใช้ในชีวิตประจำวันไม่คล่องตัว ก็เอาบ้านมาจำนอง แล้วทยอยเบิกเงินไปใช้ในชีวิติประจำวัน เรากำหนดวงเงินที่เบิก 70% ของมูลค่าบ้าน กำหนดอายุถึง 85 ปี จำนวนเงินที่เบิกได้ก็จะขึ้นอยู่กับมูลค่าบ้าน ซึ่งจะทั้งเป็นการแบ่งเบาภาระของบุตรหลาน และช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้สูงอายุด้วย ทีนี้หากผู้สูงอายุเสียชีวิต ก็จะต้องมาดูที่ทายาทว่าจะไถ่ถอนคืนหรือไม่ ตามวงเงินที่เบิกไปพร้อมดอกเบี้ย ถ้าไม่มีเงินมาซื้อธนาคารก็ปล่อยกู้ให้ได้ หรือไม่ก็ขายทอดตลาดส่วนที่เกินจากมูลหนี้ และดอกเบี้ยก็จะคืนให้ทายาทไป ในทางกลับกัน ถ้าขาดทุนธนาคารเป็นผู้ขาดทุน แต่เรามองว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว บ้านจะมีราคาสูงขึ้น และส่วนใหญ่ทายาทก็คงจะซื้อคืนไป ผลิตภัณฑ์นี้จะเริ่มได้ในเร็วๆ นี้ ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจากกระทรวงการคลัง

“โปรดักต์ Reverse Mortgage นี่น่าจะมีหลายคนรออยู่ ผมในช่วงเริ่มแรกนี่ หากปล่อยได้หมื่นล้าน ถามว่าเยอะมั้ย ผมว่าไม่ ไซส์สินเชื่อเราเกือบ 2 ล้านล้านบาท หมื่นล้านในช่วง 2-3 ปีแรก ก็น่าจะได้คิดเป็น 0.5% ของพอร์ตเอง แต่ในปี 2568 ก็น่าจะเยอะขึ้น และหากขึ้นไปถึงแสนล้าน ก็ยังเป็นตัวเลขที่รับได้เพราะคิดเป็น 5% ของพอร์ตรวมเท่านั้น”

ทีนี้ลองคิดถึงความเสี่ยงของสินเชื่อบ้านย้อนกลับ ซึ่งก็มีความเสี่ยงอยู่บ้าง กรณีถ้าท่านอายุถึง 85 ปีแล้ว ยังไม่เสียชีวิตทำอย่างไร ธนาคารจะเอาบ้านไปขายเลยรึเปล่า...ไม่ แต่เราเอาไปประเมินราคาใหม่ ซึ่งก็เชื่อว่า มูลค่าทรัพย์น่าจะเพิ่มขึ้น ก็สามารถให้ท่านกู้ต่อได้ในหลักเกณฑ์เดิม อันนี้ไม่เป็นไร แต่ในทางกลับกัน หากประเมินราคาได้ต่ำกว่าเดิม ทำให้เราให้กู้เพิ่มไม่ได้ เพราะเต็มเพดานแล้ว และเมื่อนำไปขายก็อาจจะไม่ได้คุ้มกับเงินกู้ และดอกเบี้ยที่ปล่อยไป อันนี้เป็นความเสี่ยงของทั้งผู้สูงอายุ และธนาคารเอง แต่เท่าที่ผมคลุกคลีในวงการอสังหาริมทรัพย์มา ในประวัติศาสาตร์ของประเทศไทยมีครั้งเดียวที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลง คือ ปี 2540 หลังจากนั้น ผ่านมา 20 ปี ราคาอสังหาริมทรัพย์ ในบางพื้นที่เพิ่มเกือบ 100% ก็เชื่อว่าในอนาคตก็จะยังคงเป็นอย่างนี้อยู่ 

ท้งนี้ ในเบื้องต้น คงจะต้องขอทดลองทำในเขตกรุงเทพฯ ก่อน เพื่อดูแลด้านความเสี่ยง เพราะในอีกขาหนึ่ง เราก็ระดมเงินฝากมาจากประชาชน จึงต้องดูแลในจุดนี้ด้วย แม้ว่าระดับ 70% ที่เราให้เบิกจ่ายนั้น นับเป็นราคาต่ำสุดของสินทรัพย์ที่กรมบังคับคดี จะขายทอดตลาดได้ แต่ก็อยากจะทดสอบในกลุ่มที่มีความคล่องตัวก่อน โดยหมู่บ้านจัดสรรให้วงเงิน 70% ส่วนคอนโดมิเนียม 65% เพราะคอนโดฯ มีค่าส่วนกลางที่ต้องเผื่อไว้ กรณีที่ยึดมาแล้วมีค่าส่วนกลางค้างอยู่ ส่วนราคาบ้านก็อยากจะช่วยคนที่ราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทลงมาก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่น่าจะมีความจำเป็นต้องใช้หลังจากที่ไม่มีรายได้ แต่ไม่อยากรบกวนบุตรหลาน ก็ใช้ทรัพย์สินที่ตัวเองหามาได้มาใช้ ก็น่าจะเป็นการผ่อนภาระของทั้ง 2 ฝ่ายลงได้ อันนี้เป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้น เห็นชัดเจนขึ้นในปี 68 

“อันนี้ถือว่าเราอยากทำเป็นตัวอย่าง และอยากให้ทุกองค์กร หรือทุกๆ รัฐวิสาหกิจทำบ้าง ไฟฟ้า ประปา รถเมล์ โทรศัพท์ หากเป็นผู้สูงวัยก็ลดราคาให้หน่อย หรือเป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค ทำสบู่ในรูปแบบ และราคาสำหรับผู้สูงวัย หรือร้านอาหารที่ลดราคาให้ผู้สูงวัย ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ สังคมไทยทุกอุตสาหกรรม ทุกภาคเอกชน สามารถเข้ามาช่วยลงมาช่วยผู้สูงวัยได้ ตอนนี้ก็เป็นการเตรียมการก่อนที่จะถึงปี 2568”

- เข้าสู่บทบาทธนาคารของประชาชน

ต่อไปนี้ก็จะเห็นแล้วว่า ธนาคารออมสินไม่ใช่ธนาคารของเด็ก เป็นธนาคารของผู้สูงอายุ ของกลุ่มรากหญ้า หรือที่เรียกว่า เป็นธนาคารของประชาชน เพราะคนเด็กที่สุดก็อยู่กับธนาคารออมสิน ผู้สูงวัยก็อยู่กับธนาคารออมสิน คนที่อายุ 30 ปีขึ้นไป อยู่กับเรา 70% เรามีลูกค้ารวม 20 กว่าล้านคน 70% มีอายุมากกว่า 30 ปี โดยก้อนรวมนั้น คนรายได้น้อยก็มีอยู่กับเรา คนที่รายได้มากก็มีอยู่กับเรา อาชีพเอกชน รัฐวิสาหกิจ ข้าราชาการ ก็มีอยู่กับเรา เพราะฉะนั้น เรามีความหลากหลายมาก การบริหารงานก็ต้องทำแบบ Customer Centric หรือใช้ลูกค้าเป็นศูนย์รวม แบ่งกลุ่มลูกค้าเป็น 14 กลุ่ม มีแนวทางการดูแลที่แตกต่างกัน เด็กดูแลแบบหนึ่ง วัยกำลังศึกษาดูแลอย่างหนึ่ง วัยรุ่นดูแลอย่างหนึ่ง คนสูงอายุ คนรายได้สูง รายได้ต่ำ ก็มีแนวทางที่ดูแลแตกต่างกันไป ดังนั้น จะเห็นว่า ช่วงนี้เราสร้างแบรนด์ใหม่เป็นแบบที่เรียกว่า “ออมสินยุคใหม่” ที่จะเข้าถึงได้ในทุกกลุ่ม ทั้งรายใหญ่ เอสเอ็มอี รายย่อย มีภารกิจที่หลากหลายด้วย

อีกด้าน ก็ยังพัฒนาในมุมของเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่าดิจิตอลแบงกิงด้วย ตอนนี้เรากล้าพูดว่า ของเราทันสมัยเทียบเคียงกับแบงก์พาณิชย์ได้ และทันสมัยกว่า เพราะมีฟังก์ชันมากกว่า ตัวแอปพลิเคชัน My MO บริการทั้งโอนเงิน จ่ายค่าสินค้า-บริการ เช็กสเตทเมนต์ย้อนหลังได้ 5 ปี ที่อื่นได้ 3 เดือน ซื้อขายตรวจสลากออมสินได้ ใช้เบิกเงินจากตู้เอทีเอ็ม ซื้อสินค้าบริการผ่านคิวอาร์โค้ดได้ เป็นต้น และจะยังพัฒนาต่อไปอีก เพราะเรามีลูกค้ากลุ่มนึงที่มีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบด้านเทคโนโลยี และในปีนี้ก็น่าจะได้เห็นสาขาของธนาคารออมสินที่เป็นดิจิตอล บรานซ์ ไม่ต้องมีคนบริการ มีเอทีเอ็ม เครื่องฝากเงิน อัปเดตสมุด แล้วก็มี VTM (Virtual Teller Machine) ที่ให้บริการได้ 24 ชั่วโมง

ส่วนกลุ่มที่เป็นเศรษฐกิจฐานรากที่ไม่ได้มีไลฟ์สไตล์อย่างนี้ เราก็มีแนวทางร่วมกับกองทุนหมู่บ้านต่างๆ เป็นโครงการธนาคารชุมชน เอาบริการของเราไปให้เขานำไปให้สมาชิกในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น ฝาก-ถอน-โอนเงิน หรือจ่ายบิลค่าสาธารณูปโภคต่างๆ กองทุนหมู่บ้านก็จะเป็น Banking Agent ของธนาคารออมสินในการให้บริการในรูปแบบของดิจิตอลแบงกิง ที่คนในหมู่บ้านอาจจะไม่ต้องทำเอง อย่างกรณีของการเติมเงินที่ชาวบ้านต้องไปเติมตามตู้ เติมทีละ 20 บาท ค่าบริการ 5 บาท เติม 50 บาท ค่าบริการ 5 บาท ทั้งๆ ที่สามารถเติมเงินเองผ่านมือถือได้ อันนี้อีกหน่อย ถ้าเราให้เขารับรู้ และทดลองทำ ทำเป็นแล้ว ก็จะได้ไม่ต้องเสียค่าบริการสูงๆอีก

ในส่วนของเทคโนโลยีนั้น ธนาคารเข้าใจว่า มีกลุ่มที่ทั้งชอบ และกลุ่มที่ยังไม่กล้า เราพยายามตอบโจทย์ทุกกลุ่ม คนที่ชอบเทคโนโลยีเราก็จัดเต็มให้ แต่สำหรับคนที่ยังชอบแบบเบสิกเซอร์วิส ก็มีส่วนที่ออกแบบให้มีเทคโนโลยีเสริมเข้าไปแบบค่อยเป็นค่อยไป

“จริงๆ เราทำงานยากกว่าแบงก์พาณิชย์ในหลายๆ ด้าน เพราะต้องดูแลลูกค้าหลากหลาย ทั้งนโยบายรัฐที่ให้ออมสินเป็นหัวหอกช่วย ซึ่งเราเต็มใจ อย่างลงทะเบียนคนจนกว่า 3 ล้านรายนี่ เป็นงานหนัก แต่ก็ไม่มีใครบ่นเลย และเราไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายอะไรเลย เป็นธุรกรรมที่สนับสนุนคนกลุ่มฐานราก แล้วถามว่า เอารายได้มาจากไหน ก็จะมีส่วนลูกค้าที่เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง ก็จะทำธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับธนาคารเหมือนกับที่ธนาคารพาณิชย์ทำกัน ก็มีบัตรเครดิต โมบายแบงกิง สินเขื่อบ้าน เพื่อมาจุนเจือส่วนที่ด้อยกว่า ก็มีอยู่เยอะพอสมควร แต่ถ้าเทียบเป็นปริมาณรายกลุ่มฐานรากมีมากกว่า แต่ถ้าเทียบเป็นมูลค่ากลุ่มนี้จะเยอะกว่า ยกตัวอย่าง เราเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้าเพียง 1-2 ปี มีเงินฝากเป็นหมื่นล้าน แต่ไปเปิดสาขาต่างจังหวัดปีสองปี มีเงินฝาก 200 ล้านบาท แต่เราก็พยายามที่จะเปิดสาขาในต่างจังหวัดมากกว่าเพื่อบริการคนกลุ่มหนึ่ง จึงมีสาขาในกรุงเทพฯ แค่ 150 แห่ง สาขาต่างจังหวัด 900 แห่ง”

- ก้าวต่อไปกับ “ไทยแลนด์ สตรีท ฟู้ด”

โครงการต่อไปที่จะเดินหน้าต่อไป เป็นโครงการ “ไทยแลนด์ สตรีท ฟู้ด” ธนาคารออมสิน ร่วมกับกระทรวงการคลัง ที่มีแนวคิดมาจากที่ว่า เราช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยอย่างไร แล้วผู้ประกอบการรายย่อยของไทยส่วนใหญ่ก็ค้าขายอาหารริมทาง ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับการโหวตว่า มีสตรีทฟู้ดที่ดีเป็นอันดับหนึ่ง มีให้รับประทานกัน 24 ชั่วโมง แต่ก็จุดอ่อนก็คือ เรื่องของคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ จานชาม ความสะอาด แต่ความอร่อย และราคาเป็นจุดแข็ง ดังนั้น สิ่งที่ธนาคารออมสิน คิดว่า จะช่วยได้ก็คือ การปรับปรุงคุณภาพ ตั้งแต่เรื่องโต๊ะ เก้าอี้ ที่เป็นรถเข็นก็อาจจะเปลี่ยนเป็นฟู้ดทรัก (Food Truck) คันละประมาณ 5 แสนบาท เป็นต้น แล้วก็จะร่วมกันปลุกกระแสไทยแลนด์สตรีทฟู้ดขึ้นมา สร้างให้เป็นแบรนด์

ตรงนี้ คิดแค่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยปีละ 30 ล้านคน จ่ายคนละ 100 บาท ก็ 3000 ล้านบาท มา 10 วัน 3 หมื่นล้านบาท ชาวบ้านก็จะได้เพิ่มจากที่ปกติที่คนไทยเราก็รับประทานกันอยู่แล้ว แล้วสตรีทฟู้ดก็เป็นตัวที่ช่วยให้ค่าครองชีพบ้านเราไม่สูง ไม่ต้องเข้าไปกินที่ห้างสรรพสินค้า มื้อละ 100 กว่าบาททุกมื้อ จ่าย 35-40 บาทก็มีกินได้ ถ้าเราทำได้ใน กทม. แล้วก็ขยายไปตามเทศบาล จังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

การยกระดับ ก็ต้องสร้างแบรนด์ มีเครื่องมือช่วยสนับสนุน ด้านการชำระเงินใช้คิวอาร์โคดได้ เป็นต้น แล้วก็ที่คิดไว้ก็คือ จะทำรายการทีวีแบบการแข่งขันทำอาหาร ให้ผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดมาแข่ง มาโชว์กัน ช่วยปลุกกระแส แต่เริ่มต้นจะต้องยกระดับคุณภาพก่อน เรื่องความสะอาดต่างๆ รวมถึงมีหน่วยงานที่มาช่วยรับรองด้วย และจะปรับปรุง ออมสินก็มีเงินกู้ปล่อยเป็นเงินทุนให้ เบื้องต้น ถ้าเป็นร้านข้างทางก็อาจจะรายละ 2 แสนบาท เพื่อปรับปรุงโต๊ะ เก้าอี้ ต่างๆ แต่ถ้าใครอยากจะซื้อฟู้ดทรักก็มีให้ 5 แสนบาท หรือจะเป็นซื้อร้านเลยก็ประมาณ 1 ล้านบาท ไม่น่าจะเกินนั้น หลักเกณฑ์เบื้องต้น ก็ใช้บุคคลค้ำประกันได้วงเงินต่ำกว่า 5 แสนบาท ถ้าวงงเนเกินกว่า 5 แสนอาจจะต้องมีทรัพย์ค้ำประกัน ในอัตราดอกเบี้ย 0.4-0.5% ต่อเดือน

“ผมว่า การจัดระเบียบฟุตปาธกับการมีอยู่ของร้านค้าริมทางน่าจะไปด้วยกันได้ ถ้าให้ขายในพื้นที่ที่เหมาะสม มีกฎระเบียบต่างๆ ดูแลอยู่ เพราะถ้าสตรีทฟู้ดหายไป ค่าครองชีพก็จะสูง แล้วมันจะรู้สึกยังไงมั้ย ถ้าต่อไปเราจะกินข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว หรือผัดไทยสักจาน ต้องเข้าร้านสะดวกซื้อแล้วเอามาเวฟฯ กิน ผลประโยชน์ก็ไปรวมอยู่ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ขณะที่พ่อค้าแม่ขายของเรายังมีศักยภาพที่จะทำได้ แต่ทำไมเราไม่ส่งเสริมให้เขามีรายได้ ซึ่งไม่ได้เน้นสถานที่ว่า ต้องเป็นแหล่งฮิตอย่างเยาวราช หรืออะไร พื้นที่ไหนก็ได้ การจัดระเบียบทางเท้า คือ จัดให้มีระเบียบ แต่ทำให้เขาไม่มีทำกิน ก็ลำบาก น่าจะหาสิ่งที่ทำไปด้วยกันได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็มันเป็นเสน่ห์ของเมืองไทยอย่างหนึ่ง”

- การทำงานจากภาคเอกชนมาสู่ธนาคารรัฐ

“จะเป็นการผสมผสานระหว่างการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ กับธนาคารเฉพาะกิจที่ใหญ่ที่สุดของรัฐให้ลงตัว จากการทำงานกับแบงก์พาณิชย์ที่ใช้กำไรสูงสุดเป็นเกณฑ์ ผมมีความสุขที่ได้มาอยู่แบงก์ออมสิน ที่ไม่จำเป็นต้องกำไรสูงสุด แต่เราได้ช่วยเหลือประชาชน ทำโครงการช่วยเหลือสังคมต่างๆ ทำบุญ ทำประโยชน์มากมาย เป็นที่พี่งของประชาชนได้ แต่เราต้องผสมผสานกันให้ได้ ก็จะเห็นธนาคารออมสิน ก็จะมีมุมที่ทันสมัย มีบริการที่ครบวงจรขึ้น โมบายแบงก์ เป็นต้น แต่อีกมุมที่ยังคงทำอยู่ก็คือ การดูแลกลุ่มฐานราก ก็จะทำอย่างผสมผสานกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่สนุกมากที่ได้ครีเอตอะไรต่างๆ และผลก็จะเห็นได้ว่า ออมสินทันสมัยขึ้น ครอบคลุมขึ้น และทำให้ทุกๆ คนทุกๆ กลุ่มรู้สึกว่าเป็นแบงก์ของเขา อันนี้คือ จุดมุ่งหมายของเรา”
กำลังโหลดความคิดเห็น