คลังเอาแน่เก็บภาษีลาภลอย รายได้ของผู้ที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ สศค.เปิดประชาพิจารณ์ รับฟังข้อดี-ข้อเสียก่อนนำเสนอ ครม. กำหนดรายได้เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไปต้องเสียภาษี
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. .... หรือที่รู้จักกันว่า การเก็บภาษีลาภลอย
เนื่องจากรัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งในปัจจุบัน และอนาคตจำนวนมาก ทำให้ผู้มีที่ดิน หรือที่อยู่อาศัยได้ประโยชน์มูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น โครงการลงทุนด้านคมนาคมของรัฐบาล 1.79 ล้านล้านบาท ในช่วงปี 2558-2565 ทำให้มูลค่าที่ดิน และห้องชุดบริเวณโครงการเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยดูจากราคาประเมินปี 2559-2562 เพิ่มขึ้น 100-150% เทียบกับราคาประเมินช่วง 4 ปีก่อนหน้า จึงเห็นว่า ควรเก็บภาษีลาภลอยขึ้น
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย กำหนดผู้เสียภาษีลาภลอย คือ ผู้ขายที่ดิน หรือห้องชุด เจ้าของที่ดิน หรือห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ
ทั้งนี้ โครงการที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สนามบิน ท่าเรือ โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่นๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง
ขณะที่การจัดเก็บภาษีใน 2 กรณี คือ กรณีที่ 1.การจัดเก็บในระหว่างการดำเนินโครงการฯ จะจัดเก็บจากการขาย หรือเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือห้องชุดทุกครั้ง รอบพื้นที่โครงการในรัศมีที่กำหนด กรณีที่ 2 คือ การจัดเก็บเมื่อการดำเนินโครงการฯ แล้วเสร็จ จะจัดเก็บจากที่ดิน หรือห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท ยกเว้นใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย และทำเกษตรกรรม และเก็บจากห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอการจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ โดยให้เก็บภาษีดังกล่าวในปีถัดจากปีที่โครงการฯ แล้วเสร็จเพียงครั้งเดียว
สำหรับพื้นที่จัดเก็บภาษีกำหนดขอบเขตไว้ ดังนี้ 1.โครงการฯ และพื้นที่ที่อยู่ในรัศมีของโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 2.5 กิโลเมตร รอบสถานี 2.โครงการฯ และพื้นที่ ที่อยู่ในรัศมีสนามบิน 5 กิโลเมตร จากแนวเขตห้ามก่อสร้างของสนามบิน 3.โครงการฯ และพื้นที่ ที่อยู่ในรัศมี ท่าเรือ 5 กิโลเมตร จากแนวเขตที่ดินของท่าเรือ และ 4.โครงการฯ และพื้นที่ที่อยู่ในรัศโครงการทางด่วนพิเศษ 2.5 กิโลเมตร รอบทางขึ้น และทางลง
ทั้งนี้ ผู้จัดเก็บภาษี คือ กรมที่ดิน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยอัตราการเก็บภาษีกำหนดเพดานสูงสุด 5% แต่จัดเก็บจริงจะพิจารณากำหนดโดยคณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี โดยออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ต่อไป
นายกฤษฎา กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ศึกษาการเก็บภาษีลาภลอยนี้มานานแล้ว และที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอให้เก็บภาษีดังกล่าว สศค. จึงนำร่างกฎหมายนี้มารับฟังความเห็นจากประชาชน เพื่อดูข้อดีข้อเสียของกฎหมาย ก่อนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ