xs
xsm
sm
md
lg

คาด ศก.ไทย ปี 60 โตได้ถึง 4.2% เครื่องยนต์ ศก.เริ่มทำงาน แนะทบทวนยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อนุสรณ์” คาด ศก.ไทย ปี 60 เติบโตได้ 3.6-4.2% ถือว่าขยายตัวดีสุดในรอบ 4 ปี โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคเอกชน ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มมั่นใจมากขึ้น ส่งผลเชิงบวกต่อภาคตลาดทุน พร้อมแนะทบทวนยุทธศาสตร์ ศก.ระหว่างประเทศ เน้นการค้า-การลงทุน เร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หันใช้ระบบสวัสดิการ และเร่งเบิกจ่ายงบฯ เพื่อเดินหน้าไปตามโรดแมป

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะอยู่ที่ 3.6-4.2% ขยายตัวดีที่สุดในรอบสี่ปีนับตั้งแต่ปี 2555 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 6.5% หลังมหาอุทกภัยน้ำท่วม โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามาจากแรงขับเคลื่อนสำคัญของการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว

ส่วนภาคส่งออกฟื้นตัวเป็นบวกเล็กน้อย และภาคการบริโภคกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 33.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลไม่ต่ำกว่า 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าเพื่อการลงทุนมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากราคาพืชผลเกษตร การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และราคาพลังงานโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจะเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้ง

“คาดว่าภาคการลงทุนโดยรวมจะเติบโตได้อย่างน้อย 5.5% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 3% การส่งออกเริ่มฟื้นตัวทำให้กำลังการผลิตลดลง และเริ่มกระตุ้นให้เกิดความต้องการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ความมีเสถียรภาพในระยะเปลี่ยนผ่านทำให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของบรรษัทข้ามชาติที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกในประชาคมอาเซียน เริ่มขยับเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น”

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การลงทุนก่อสร้างของเอกชนมีความสัมพันธ์ตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมขนส่ง หากมีความคืบหน้าตามเป้าหมาย จะดึงให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีความสัมพันธ์ในระดับสูงทางบวก (Positive Correlation) กับการขยายตัวของภาคส่งออก ภาคบริโภคกระเตื้องขึ้นโดยขยายตัวได้ที่ระดับ 2.5-3.0% นับว่าไม่มาก เพราะระดับรายได้ประชาชนโดยทั่วไปไม่เพิ่มขึ้นมาก ความไม่มั่นคงในงานลดลงจากการนำเทคโนโลยีมาทดแทนในการทำงานมากขึ้น

นอกจากนี้ ภาคการบริโภคยังได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การนำเงินรายได้ในอนาคตมาบริโภค รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการบริโภคโดยลดหย่อนภาษีกระตุ้นการบริโภคได้เพียงชั่วคราวระยะสั้น และได้ทำมี Stock Inventory เก็บไว้จำนวนมากในภาคครัวเรือน และส่งผลให้ตัวเลขภาคการบริโภคชะลอลงอย่างชัดเจนในไตรมาสแรกปี 2560

ด้านอัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 2-3% การนำเข้าอยู่ที่ 4-5% ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลมากจากรายได้การท่องเที่ยว เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิต่อเนื่อง

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2560 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 3.3-3.6% จากปีนี้ ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการเติบโตสูงเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงตัวเลขเฉลี่ยจีดีพีโลกให้ปรับตัวดีขึ้น คาดว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ระดับ 1.8-2% และประเทศกำลังพัฒนา และประเทศตลาดเกิดใหม่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.6-5%

ขณะที่ระบบการค้าโลกจะเผชิญแรงกดดันของลัทธิกีดกันทางการค้า และความเป็นชาตินิยมทางเศรษฐกิจมากขึ้น กระแสโลกาภิวัตน์ การเปิดเสรีจะหันมาให้น้ำหนักกับการทำข้อตกลงทางการค้า และหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีมากขึ้นกว่าระบบพหุภาคี ความมั่นคง และเสถียรภาพของระบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในยุโรปจะถูกสั่นคลอนโดยพรรคการเมืองขวาจัด หรือซ้ายจัดที่กำลังก้าวเข้ามามีอำนาจของรัฐบาลในยุโรปหลายประเทศ

ทั้งนี้ คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ปี 2560 จะสูงกว่าที่สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ประเมินไว้ โดยมองว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 2.3-2.8% ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปจะอ่อนแอมากกว่าที่หน่วยงานทางเศรษฐกิจของโลกประเมินไว้ค่อนข้างมาก โดยคาดว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยุโรปจะขยายไม่เกิน 1.4% ส่วนเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง ความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่แตกเพิ่มเติมลดลง เศรษฐกิจรัสเซียขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกหลังจากติดลบต่อเนื่องมาสองปี และกลุ่มประเทศอาเซียนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ 5-6% โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินโดจีน และเมียนมา มีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่อง

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ตลาดการเงินโลก และไทยจะเผชิญกับจุดเปลี่ยนของนโยบายการเงินจากยุคสมัยดอกเบี้ยต่ำ และการผ่อนคลายทางการเงินมากเป็นพิเศษ หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกเมื่อปี 2551-2552 มาเป็นยุคสมัยอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ในส่วนของเงินบาทน่าจะอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 34-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าจะเกินดุลการค้า แต่เงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงไหลออกสุทธิจากการออกไปลงทุนมากขึ้นของนักลงทุน และบริษัทสัญชาติไทยในต่างประเทศ

ด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) น่าจะสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ได้ หากสหรัฐอเมริกาไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงเกินไป และทำให้เม็ดเงินในตลาดการเงินไหลกลับสหรัฐฯ จำนวนมาก อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังได้เสนอแนะแนวทางดำเนินนโยบายสำคัญต่อรัฐบาล ได้แก่ กำหนดทบทวนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ วางยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อให้ “ไทย” พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน, เปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการประชานิยมระยะสั้น มาเป็นระบบสวัสดิการโดยรัฐที่มีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืนทางการเงินการคลัง, เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ พร้อมกับเร่งให้เกิดความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งคมนาคม และระบบบริหารจัดการน้ำ, ดำเนินการเพื่อให้ “ประเทศไทย” กลับคืนสู่ประชาธิปไตย และมีการเลือกตั้งตามโรดแมป เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น