ตลท.เผยรายชื่อ 102 หลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายต่อเนื่อง เข้าเป็นองค์ประกอบดัชนีใหม่ sSET Index เพิ่มเติมจากดัชนี SET50 และ SET100 ที่มีอยู่ เพื่อใช้เป็น benchmark index สำหรับการลงทุน และสามารถต่อยอดใช้เป็นดัชนีอ้างอิงเพื่อการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินในอนาคต เตรียมเผยแพร่อย่างเป็นทางการ 4 ม.ค.60
นางรินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต โดยปัจจุบันมีจำนวน 522 บริษัท ขณะที่ดัชนีหลักที่มีอยู่คือ SET50 และ SET100 ซึ่งสะท้อนหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ และมีสภาพคล่องสูง แต่ยังจำกัดจำนวนอยู่เพียง 100 บริษัท ประกอบกับในปัจจุบัน ผู้ลงทุนสถาบันมีการลงทุนในกลุ่มหุ้นนอก SET100 มากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงพัฒนาดัชนีใหม่ “sSET Index” (เอสเซ็ท) เพิ่มเติม เพื่อสะท้อนความเคลื่อนไหวของราคา และให้ความสำคัญกับหุ้นกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการพัฒนาดัชนีในต่างประเทศ
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งหวังให้หุ้นในดัชนี sSET เป็นที่รู้จักของผู้ลงทุนทั่วไปมากยิ่งขึ้น โดยผู้ลงทุนสามารถนำดัชนี sSET ไปใช้เป็น benchmark index เปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน และในอนาคตอาจพัฒนานำไปใช้เป็นดัชนีอ้างอิง เพื่อการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังส่งเสริมให้มีข้อมูล และบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ หลักทรัพย์ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดสำหรับดัชนี sSET จะถูกนำมารวมคำนวณในดัชนีทั้งหมด โดยไม่ได้จำกัดจำนวนเหมือนดัชนี SET50 และ SET100 โดยรายชื่อหลักทรัพย์ในครั้งแรกเพื่อใช้คำนวณดัชนี sSET ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 (มกราคม-มิถุนายน 2560) มีจำนวน 102 หลักทรัพย์
สำหรับการคัดเลือกหุ้นที่ใช้คำนวณในดัชนี sSET นั้น จะพิจารณาจาก
1) ขนาดของหุ้น โดยคัดเลือกเฉพาะหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ในช่วงที่กำหนด คือ อยู่ในลำดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 90-98 เมื่อเรียงลำดับหุ้นทั้งตลาดตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสะสมจากมากไปน้อย (90th-98th percentile ranked by cumulative market capitalization) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เทียบเคียงได้กับแนวทางของต่างประเทศ
2) ต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (free-float) อย่างน้อย 20%
3) เป็นหุ้นที่มีการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนหุ้นที่ซื้อขายในแต่ละเดือนต้องมีสัดส่วนอย่างน้อย 0.5% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนของบริษัท เป็นระยะเวลาอย่างต่ำ 9 เดือนจาก 12 เดือนในช่วงที่พิจารณา โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการทบทวนรายชื่อทุก 6 เดือน