ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - นักวิเคราะห์คาดดัชนีสิ้นปีปิดระหว่าง 1,520-1,550 จุด มองแรงซื้อนักลงทุนในประเทศ-กองทุน เป็นกลไกขับเคลื่อน ลดบทบาทนักลงทุนต่างชาติ คาดขายออกไปพอสมควรแล้ว แนะเลือกสะสมรายหลักทรัพย์ในกลุ่มรับเหมา วัสดุก่อสร้าง ค้าปลีก รวมถึงธนาคารพาณิชย์
นางสาวธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป คาดดัชนี ณ สิ้นปี 2559 น่าจะอยู่ระหว่าง 1,520-1,530 จุด จากแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ปัจจัยขังเคลื่อนหลักยังคงเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ แม้ว่าการดีดตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลกอีกครั้ง ตามความเชื่อมั่นว่า กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปก อาจตกลงลดกำลังการผลิตตามกลุ่มโอเปกได้ จะช่วยหนุนหุ้นกลุ่มพลังงานในตลาดหุ้นไทย แต่ยังคงเป็นระยะสั้น
ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ฯ บล.ฟิลลิป ระบุปัจจัยกดดันดัชนีในสัปดาห์นี้ (13-16 ธ.ค.59) คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed เพราะแม้นักลงทุนจะซึมซับแล้วว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2559 แต่ก็เริ่มจับตาท่าทีของ Fed ในปี 2560 ว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนล่าสุด
“แม้บรรยากาศโดยรวมอิงทางบวก แต่เชื่อว่าการปรับขึ้นของ SET จะยังมี Upside จำกัด จากความแปรปรวนของตลาดที่เกิดขึ้นได้ระหว่างทางตามปัจจัยใหม่ที่เข้ามากระทบ ขณะที่ยังมีปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ให้ติดตามต่อ ส่วนนักลงทุนต่างชาติน่าจะไม่มีบทบาทมากนักในระยะสุดท้ายของปี 59 เพราะที่ผ่านมา ขายไประดับหนึ่งแล้ว คงไปโฟกัสกันที่ปี 2560 เลยว่า จะกลับเข้ามามากน้อยแค่ไหน”
นางสาวธีรดา แนะนำกลยุทธ์การลงทุนเน้น Stock Selection และกลยุทธ์หลักยังเป็น “ขึ้นขาย ลงซื้อ” หุ้นแนวโน้มผลประกอบการดี หุ้นที่ตอบสนองนโยยาบภาครัฐ เช่น กลุ่มค้าปลีก กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แต่ควรเลือกพิจารณาเป็นรายหลักทรัพย์
ขณะที่ นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย เวลท์ คาดดัชนี ณ สิ้นปี 2559 น่าจะสามารถปรับขึ้นได้ถึง 1,550 จุด จากแรงซื้อสะสมของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามาลงทุนในกลุ่ม SET50 อีกครั้ง รวมถึงนักลงทุนในประเทศที่เริ่มมั่นใจภาวะเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น เห็นได้จากผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่สามารถทำกำไรเติบโตก้าวกระโดดได้ต่อเนื่องจากปี 2558 แม้ภาวะเศรษฐกิจจะทรงตัว
“มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ดังนั้น ตลาดทุนจะกลับมาขับเคลื่อนด้วย “ปัจจัยพื้นฐาน” เป็นหลักมากกว่าการมองที่ “เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายพิเศษ” เพราะเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่การฟื้นตัว รวมถึงทางยุโรปเองในหลายประเทศภาวะเศรษฐกิจเริ่มทรงตัว พร้อมที่จะฟื้นตัวขึ้นตามทางสหรัฐอเมริกา ขณะที่ทางเอเชียเราเศรษฐกิจถือว่าดีมาตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น เม็ดเงินลงทุนจะเริ่ม “วิ่ง” เข้าหาการลงทุนที่มั่นคง และให้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งเอเซีย รวมถึงไทยถือว่าสามารถตอบโจทย์ได้เมื่อเทียบกับดัชนี S&P ที่ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ PE 17-18 เท่า ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย EPS ประมาณ 100 PE ณ ดัชนีที่ 1,550 จุด ก็ประมาณ PE 14-15 เท่า ซึ่งถือว่าถูกมาก นักลงทุนต่างชาติน่าจะเริ่มกลับเข้ามา “จัดพอร์ต” กันใหม่”
กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย เวลท์ วิเคราะห์ทิศทางราคาน้ำมัน ณ ปี 2560 น่าจะเคลื่อนไหวระหว่าง 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลล์ เนื่องจากแม้ประเทศในกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน หรือโอเปก จะสามารถบรรลุข้อตกลงควบคุมการผลิต แต่ยังคงมีท่าทีรวมถึงแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจากพรรครีพับลิกัน ที่จะยกเลิกกฎข้อห้ามต่างๆ ที่ส่งผลกระทบทำให้มีคนตกงานในอุตสาหกรรมการผลิตพลังงาน ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมน้ำมันจากเชลล์ออยส์ และถ่านหินด้วย ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ จะยังเดินหน้าต่อไป
นายวรุตม์ คาดการณ์หุ้นกลุ่มที่น่าสนใจ คือ หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะเป็นกลุ่มที่ out of performance
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุดัชนีหุ้นเดือน ธ.ค.เริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจากปัจจัยสำคัญมีความชัดเจนทั้ง การเลือกตั้งสหรัฐฯ ราคาน้ำมัน และการเมืองภายในประเทศ ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้มีเงินเข้ามาซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดการณ์ดัชนีสิ้นปี 2559 ที่ 1,550 จุด
อย่างไรก็ตาม CEO KTBS ยังแนะนำให้จับตาปัจจัยที่มีผลต่อตลาดหุ้นในเดือน ธ.ค. คือ นโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ การลดภาษี และการลงทุนภาครัฐ รวมไปถึงการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะส่งผลให้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ประเทศต่างๆ ชะลอหากเฟดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องมาถึงต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และทำให้นักลงทุนลดพอร์ตลงทุนในพันธบัตรลง
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในเดือน ธ.ค. ประเมินว่า ทิศทางตลาดที่มีแนวโน้มในทางบวก จึงควรสะสมหุ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่คาดว่าจะนำตลาด คือ หุ้นใหญ่ในกลุ่มที่นักลงทุนสถาบันฯ เข้าลงทุน กลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ นำโดยกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น