xs
xsm
sm
md
lg

“Trump Shocks” อาจส่งผลที่คาดเดาได้ยาก แนะให้ระมัดระวังการลงทุนช่วงนี้เป็นพิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิเคราะห์ ศก. ทีเอ็มบี ประเมิน “Trump Shocks” อาจส่งผลที่คาดเดาได้ยาก และนักลงทุนควรระมัดระวังการลงทุนช่วงนี้เป็นพิเศษ เชื่อจะทำให้ตลาดเงิน และตลาดทุนไทยผันผวนเพียงระยะสั้น ยอมรับตลาดสับสนนโยบาย ศก. และรอความชัดเจนจากเฟด ขณะที่ระยะยาว ศก.สหรัฐฯ มีโอกาสเจอกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจนส่งผลให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตรา ดบ.เร็วกว่าคาด

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี วิเคราะห์ว่า ภายหลังผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด ออกมาพลิกความคาดหมายของนักวิเคราะห์ โดยไม่เพียงแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 สภาครองเกรสก็ยังตกอยู่ภายใต้การควบคุมเบ็ดเสร็จของพรรครีพับลิกัน ทำให้ตลาดทุนทั่วโลกกังวลกับนโยบายสุดโต่งของนายทรัมป์ หลังจากที่เคยชินกับนโยบายเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ของพรรคเดโมแครต มาเกือบทศวรรษ แต่หลังจากนายทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์ตอบรับชัยชนะ ตลาดกลับคลายกังวลอย่างรวดเร็วมาก ชี้ว่า ปรากฏการณ์ “Trump Shocks” อาจส่งผลที่คาดเดาได้ยาก และนักลงทุนควรระมัดระวังการลงทุนช่วงนี้เป็นพิเศษ

Trump Shocks เริ่มปั่นป่วนตลาดทันทีที่คะแนนเสียงของนายทรัมป์ เริ่มนำนางคลินตัน อย่างชัดเจน ทำให้นักลงทุนลดความเสี่ยงอย่างฉับพลัน และเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ดัชนีนิเคอิของญี่ปุ่น ร่วงรุนแรงถึงร้อยละ 6.63 และเงินเยนแข็งค่าร้อยละ 3.97 เวลาเดียวกันตลาดหุ้นไทยก็ปรับตัวลงร้อยละ 1.47 และบอนด์ยีลด์ลดลงทันที อย่างไรก็ตาม นักลงทุนกลับต้องช็อกอีกระลอก หลังนายทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์ตอบรับชัยชนะ และเน้นย้ำถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่เลวร้ายเหมือนในช่วงหาเสียง ส่งผลให้มีแรงเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหนัก ทำให้ดัชนี S&P500 กลับมาบวก และพันธบัตรสหรัฐเผชิญแรงขายอย่างรุนแรง และตอนเช้าตลาดเอเชียก็รับอาการช็อกด้วยการกลับมายืนที่จุดเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

จากปรากฎการณ์ Trump Shocks ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองตลาดจะมีความผัวนผวนต่อเนื่องระยะสั้น เนื่องจากนักลงทุนส่วนมากยังสับสนกับนโยบายของนายทรัมป์ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความผันผวนในตลาดจะคงอยู่จนกว่านายทรัมป์ จะประกาศนโยบายที่แน่ชัดออกมาในช่วงเดือนมกราคมปีหน้า ส่วนระยะยาว มองว่าสิ่งที่จะกำหนดทิศทางของตลาดทุนไทยที่แท้จริง คือ นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยมองผลลัพธ์ออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่นโยบายเศรษฐกิจของนายทรัมป์ ได้รับอนุมัติทั้งหมด เชื่อว่าจะก่อให้เกิด Trump Shocks อีกรอบ และเงินเฟ้อดีดตัวอย่างชัดเจน เป็นผลมาจากนโยบายการค้า และผู้อพยพที่สุดโต่ง ทำให้เฟดจำต้องตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเร็ว โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งสิ้นปีนี้ ร้อยละ 0.25 และเพียง 2-3 ครั้ง ร้อยละ 0.25 ในปีหน้า ซึ่งกรณีนี้จะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนโลกเร็วขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงขายทั้งในหุ้น และบอนด์ไทยกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าอีกประมาณร้อยละ 3 จากสิ้นปีนี้ถึงปีหน้า

ส่วนกรณีที่นโยบายเศรษฐกิจของนายทรัมป์ ได้รับการตอบสนองบ้าง แม้เศรษฐกิจจะเติบโตได้น้อยกว่า แต่จะไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และระดับหนี้สิน ส่งผลให้เฟดมีโอกาสที่จะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายได้ต่อ โดยคาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในสิ้นปีนี้ และอีก 1 ครั้งในปีหน้า ส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าเพียงเล็กน้อยร้อยละ 1.5 จากสิ้นปีนี้ถึงปีหน้า

ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ Trump Shocks ชี้ให้เห็นว่า ตลาดการเงินหลังจากนี้ยากที่จะคาดเดา ทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้าย จากนี้ไปจนถึงปีหน้าคงจะยังมีเรื่องช็อกอื่นอีกนอกจาก Trump Shocks ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การกีดกันทางการค้า การเมืองในยุโรป และปัญหาหนี้เสียในจีน ดังนั้น ผู้ประกอบการ และนักลงทุนไทย จึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และเตรียมตัวรับกับความผันผวนของตลาดที่จะยังมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น