เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์คฯ ซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารเพิ่ม 2 ก้อนโต ล่าสุด จากธนชาต มูลค่ากว่า 2.4 พัน ลบ. และกสิกร มูลค่ากว่า 1.5 พัน ลบ. ดันพอร์ตบริหารหนี้ทะลุ 1 แสนล้านบาทแล้ว ผู้บริหารเผยสัดส่วนหนี้ NPL ในระบบมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตพุ่งทะลุเพดานในรอบ 10 ปี เป็นโอกาสของ JMT ให้เข้าไปประมูลซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่ม นอกจากนี้ ปลายปีเป็นไฮซีซันที่สถาบันการเงินแห่ขายหนี้เสียออกมาอยู่แล้ว ปัจจุบัน JMT อยู่ระหว่างเข้าประมูลหนี้กับอีก 5 สถาบันการเงิน มั่นใจทั้งปีทำได้ตามเป้า
นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ประกาศซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร ล่าสุด บริษัท บริหารสินทรัพย์เจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ด้อยคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ กับธนาคาร ธนชาต จำกัด (มหาชน) มูลค่า 2,422 ล้านบาท และก่อนหน้านี้ ลงนามในสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ด้อยคุณภาพของสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่า 1,536 ล้านบาท สนับสนุนให้ปัจจุบัน บริษัทฯ มีพอร์ตบริหารหนี้อยู่แล้วที่ราว 101,057 ล้านบาท ขณะที่ช่วงปลายปีเป็นไฮซีซันที่สถาบันการเงินจะมีการขายหนี้เสียออกมาเป็นจำนวนมาก โดย JMT อยู่ระหว่างทำดีลเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเพิ่มกับอีก 5 สถาบันการเงิน คาดจะเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดภายในเดือนธันวาคมนี้ สนับสนุนเป้าหมายการซื้อหนี้เข้ามาบริหารทั้งปีให้เป็นไปตามที่วางไว้
โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายซื้อหนี้ด้อยคุณภาพในปี 2559 มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท หรือมีพอร์ตบริหารหนี้ทั้งปีแตะ 1.1 แสนล้านบาท โดยใช้เงินลงทุนราว 1 พันล้านบาท จากทั้งปี 2558 มีพอร์ตบริหารหนี้อยู่ที่ราว 9 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าหมายในปี 2560 จะซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเพิ่มอีก 3 หมื่นล้านบาท ใช้เงินลงทุนราว 1.5 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต ส่วนที่เหลือจะเป็นหนี้สินเชื่อรถยนต์ และอื่นๆ
สำหรับแนวโน้มภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปี 2559 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังเติบโตไม่มากนัก ขณะที่สถาบันการเงินต่างๆ ทั้ง Bank และ Non-Bank มีการปล่อยสินเชื่อออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการทยอยขายหนี้ด้อยคุณภาพออกมาเป็นจำนวนมากตั้งแต่ต้นปี โดยทั้งปีนี้สถาบันการเงินเทขายหนี้ด้อยคุณภาพออกมาราว 6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ JMT ซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร 2 หมื่นล้านบาทตามแผนงานที่วางไว้ เนื่องจากบริษัทฯ มีการคัดเลือกหนี้ที่มีคุณภาพ และได้ผลตอบแทนตามเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนด
ประกอบกับข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประกาศในช่วงที่ผ่านมา เปิดเผยถึง สัดส่วนหนี้ NPL ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 3/2559 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.89 จากไตรมาส 2/2559 อยู่ที่ร้อยละ 2.72 ขณะที่ NPL สินเชื่อบัตรเครดิตมีการปรับตัวขึ้นจากร้อยละ 4.25 เป็นร้อยละ 5.10 สูงที่สุดในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา สำหรับ NPL สินเชื่อส่วนบุคคล และ NPL สินเชื่อที่อยู่อาศัยก็มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งสัดส่วนหนี้ที่อยู่อาศัยมีจำนวนค่อนข้างเยอะ เมื่อเทียบกับพอรต์สินเชื่อรวม นับเป็นโอกาสของ JMT ให้สามารถซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารได้อีกมาก และมีแผนเข้าไปประมูล NPL สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่มีหลักประกันอื่นๆ เพิ่มเติม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาซื้อหนี้ด้อยคุณภาพที่เป็นสินเชื่อบ้านมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท จากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติจากกระทรวงการคลัง จึงคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีหน้า
“JMT นับเป็นเบอร์หนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจบริหารหนี้ในประเทศไทย มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดราว 90% เป็นผลจากประสบการณ์ในธุรกิจ ความเชี่ยวชาญ ความเป็นมืออาชีพ และเงินลงทุนที่พร้อมเข้าประมูลซื้อหนี้เข้ามาบริหารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความสามารถในการจัดเก็บหนี้ของบริษัทฯ ทำให้ JMT จัดเก็บหนี้ได้เกินเป้าหมายที่วางไว้ สนับสนุนให้บริษัทฯ มีรายได้จากการจัดเก็บหนี้เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายปิยะ กล่าว
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ประจำไตรมาส 3/2559 มีรายได้รวมอยู่ที่ 302.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 51.5 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 17 ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2559 มีรายได้รวม 775.9 ล้านบาท กำไรสุทธิ 71.4 ล้านบาท