xs
xsm
sm
md
lg

หนี้เสียแบงก์พาณิชย์พุ่งสูงสุดรอบ 5 ปี คาดยาวต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธปท.เผยหนี้เสียแบงก์พาณิชย์จากการปล่อยสินเชื่อ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นกว่า 19,900 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี ยอมรับแนวโน้มเอ็นพีแอล พุ่งไม่หยุด หลัง Q3/59 เติบโตสูงถึง 2.89% และมีสัญญาณโตต่อเนื่องถึง Q1/60 ย้ำระบบธนาคารยังมีเสถียรภาพ

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2559 พบว่า ภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพ สะท้อนได้จากเงินสำรอง และเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูง แต่ยอมรับว่า เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจำกัดเฉพาะบางภาคส่วน ทำให้การเติบโตของสินเชื่อชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ร้อยละ 3.3 และคุณภาพสินเชื่อยังด้อยลง ทั้งสินเชื่อธุรกิจโดยเฉพาะภาคเอสเอ็มอี และสินเชื่ออุปโภคบริโภค

ซึ่งขณะนี้มียอดค้างชำระจนกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวนกว่า 393,600 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี หรือเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนถึง 19,900 ล้านบาท กระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ โดยประเมินว่า ปีนี้สินเชื่อจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2-3 และอาจขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศเร็วๆ นี้

นายดอน กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานไตรมาส 3 อยู่ที่ 97,100 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 9.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยไตรมาส 4 ธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับโครงสร้างหนี้เสียตามกระบวนการบริหารจัดการสินเชื่อ แต่ยังต้องจับตาไตรมาสแรกปีหน้า โดยเฉพาะสินเชื่อภาคการพาณิชย์ และภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนหนี้เสียสูงกว่าภาคอื่นๆ ขณะที่ความต้องการสินเชื่อยังอยู่ในระดับต่ำ โดยสินเชื่อธุรกิจปรับตัวลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ 10 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

“เชื่อว่าในไตรมาส 4 จะเห็นธนาคารพาณิชย์เข้ามาจัดการบริหารสินเชื่อ ปรับโครงสร้างหนี้ และตัดหนี้ขาย ซึ่ง NPL จะไม่เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ โดยไตรมาส 1/60 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มอีก และหากเศรษฐกิจยังทรงตัว NPL จะเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 60 แต่ถ้าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว มีการปล่อยสินเชื่อภาคพาณิชย์มากขึ้น NPL ก็จะเริ่มดีขึ้น”

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัวลงมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่ในด้านการขอสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากอัตราการใช้วงเงินสินเชื่อในภาคธุรกิจไตรมาส 3/59 อยู่ที่ 50% ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงปี 54-55 ที่อยู่ในระดับ 60% โดยไตรมาส 3 สินเชื่อที่ชะลอลง ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจขยายตัว 1.1% และสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 5.2%

“แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อทั้งปี คาดว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 3% ซึ่งถ้าจะทำได้ในไตรมาส 4/59 จะต้องปล่อยสินเชื่อให้ได้เกิน 3 แสนล้านบาท แต่ก็เชื่อว่าการขยายตัวสินเชื่อทั้งปีจะได้ไม่ต่ำกว่า 2.4% อย่างแน่นอน”

ด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/59 เพิ่มขึ้นจากการบริหารต้นทุนเงินฝาก โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 97.1 พันล้านบาท หดตัว 9.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลของฐานรายได้จากการขายเงินลงทุน และเงินปันผลที่สูงในระยะเดียวกันปีก่อน

ขณะที่กำไรสุทธิเท่ากับ 49.8 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยที่ 0.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ทรงตัวที่ 2.6% และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.1% จาก 1.2% ในไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ ภาพรวมฐานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,372.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไร และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.5%
กำลังโหลดความคิดเห็น