“คลัง” ดีเดย์ “ฟิโกไฟแนนซ์” วันที่ 1 ธ.ค.นี้ เปิดให้เจ้าหนี้นอกระบบ เข้ามายื่นขอใบอนุญาต เบื้องต้นให้ปล่อยกู้เรียก ดบ.ไม่เกิน 36% พร้อมรายงานธุรกรรมต่อคลังทุกไตรมาส ลั่นหากมีการทวงหนี้โหดเจอโทษหนักแน่
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การก่อตั้งนิติบุคคลปล่อยสินเชื่อรายย่อยภายใต้การกำกับ หรือ ฟิโกไฟแนนซ์ ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ สศค.จะออกประกาศหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการจัดตั้ง และจะเปิดให้เจ้าหนี้นอกระบบ เข้ามาขอยื่นจดทะเบียนกับกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ สศค.ได้ตรวจสอบเอกสารว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะพิจารณาอนุญาตการประกอบธุรกิจให้ภายในระยะเวลา 60 วันทำการ โดยในเบื้องต้น สศค.ได้ทำการสำรวจข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีการปล่อยเงินกู้นอกระบบประมาณ 1 แสนล้านบาท ที่คิดอัตราดอกเบี้ยเกินกำหนด 15% ต่อปี ซึ่งหากเข้ามาจดทะเบียนเป็นฟิโกไฟแนนซ์ ก็จะสามารถปล่อยกู้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี
ขณะที่การพิจารณากฎหมายห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกำหนดของกระทรวงยุติธรรมนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2 ซึ่งต่อไปนี้ หากใครคิดอัตราดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี ก็จะมีโทษหนักถึงจำคุก ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลพร้อมๆ กับการเริ่มอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจฟิโกไฟแนนซ์พอดี
“จากการสำรวจพบว่า มีเจ้าหนี้นอกระบบสนใจเข้ามาจดทะเบียนเป็นฟิโกไฟแนนซ์จำนวนมาก เพราะรู้ว่าต่อไปกฎหมายห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยเกินจะมีผลบังคับ ซึ่งการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวจะมีโทษหนักกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน”
ส่วนเงื่อนไขการขอจดทะเบียนฟิโกไฟแนนซ์ ต้องเป็นนิติบุคคลในรูปของบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดก็ได้ ทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท ปล่อยกู้ได้ภายในจังหวัดที่ขอเท่านั้น รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท โดยจะมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือไม่มีก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับการพิจารณาของผู้ประกอบการ
สำหรับฟิโกไฟแนนซ์ จะอยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงการคลัง จะต้องจัดส่งรายงานการปล่อยสินเชื่อ จำนวนราย วงเงินรวมที่ปล่อยกู้ รวมทั้งจำนวนหนี้เสียที่เกิดขึ้น ให้กระทรวงการคลังทำการตรวจสอบทุกไตรมาส นอกจากนี้ ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการทวงถามหนี้ จะต้องไม่ทวงหนี้โหดกับลูกหนี้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในภาพรวมทั้งหมด
นอกจากนี้ รัฐบาลยังกำหนดให้ธนาคารออมสิน และให้ ธ.ก.ส. จัดตั้งหน่วยงานแก้ไขหนี้นอกระบบ ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา รวมทั้งช่วยลูกหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ และการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินให้กับผู้มีรายได้น้อย เพื่อที่จะไม่ไปกลับไปพึ่งกู้นอกระบบอีกต่อไป
นายกฤษฎา กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยออกมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยทั้งหมดตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐนั้น เป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร เพื่อมีเงินไว้ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันเท่านั้น ซึ่งจะสามารถช่วยให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่นั้น มองว่ามีผลเพียงเล็กน้อย ถ้าคิดเป็นอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี คงไม่ถึง 1%
ทั้งนี้ สศค. มองว่า เศรษฐกิจ หรือจีดีพีของไทยที่ยังขยายตัวได้ 3.4-3.5% ต่อปี ในปัจจุบันถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ โดยหากจะทำให้จีดีพีขยายตัวเต็มตามศักยภาพที่ประมาณ 4.0-4.5% ต่อปี จะต้องดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ทั้งด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น