บังคับใช้วันแรก (2 ก.ย.58) พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ 2558 ปรามการทวงหนี้แบบข่มขู่ ยึดทรัพย์ หรือใช้อำนาจบาตรใหญ่ ช่วยให้ "ลูกหนี้" สบายใจขึ้น ไม่ต้องกังวลกลุ่มแก๊งทวงหนี้โหดเหมือนที่ผ่านมา แถมระบุชัด ห้ามคนมีสีรับจ็อบทวงหนี้เด็ดขาด ฝ่าฝืนเจอโทษหนัก ด้าน "เจ้าหนี้" เปิดใจ วอนลูกหนี้ "ใจเขาใจเรา" ดีที่สุดคือการไม่เป็นหนี้ หรือเป็นหนี้ให้น้อยที่สุด
เปิดสาระสำคัญ พ.ร.บ.ทวงถามหนี้
ทันทีที่ พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ ฉบับใหม่ ผ่านความเห็นชอบทั้ง 3 วาระจากทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และได้มีการโปรดเกล้าฯ จนได้บังคับใช้ในวันที่ 2 ก.ย.2558 ซึ่งเป็นวันแรก ครอบคลุมการทวงหนี้ทั้งในระบบ และนอกระบบ โดยให้ความสำคัญกับการควบคุมเจ้าหนี้ คุ้มครองลูกหนี้ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- ห้ามมิให้ผู้ทวงถามหนี้ ติดต่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงได้เฉพาะลูกหนี้และผู้ค้ำประกันเท่านั้น เว้นแต่เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสถานที่ติดต่อลูกหนี้
- ห้ามมิให้ผู้ทวงถามหนี้ใช้ความรุนแรง ใช้วาจา หรือภาษาดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี หรือเปิดเผยความเป็นหนี้ของลูกหนี้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
- ห้ามติดตามทวงหนี้เกินสมควรแก่เหตุ รวมถึงการติดต่อทางโทรศัพท์วันละหลายครั้ง และก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ
- ห้ามติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน
- ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้
- ห้ามมิให้ผู้ทวงถามหนี้กระทำการในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการติดตามทวงหนี้ เช่น ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าพนักงานบังคับคดี รัฐ หน่วยงานของรัฐ ทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย หรือทำให้เชื่อว่าหากไม่ชำระหนี้จะถูกดำเนินคดี ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน หรือข่มขู่ว่าจะดำเนินการใดๆ
- ห้ามไม่ให้ผู้ทวงถามหนี้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือการเสนอ จูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้
นอกจากนี้ ยังมีข้อปฏิบัติในการติดต่อกับลูกหนี้ โดยระบุว่า ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้แจ้งไว้เท่านั้น หากติดต่อไม่ได้ ให้ถือเอาสถานที่ติดต่ออื่นเป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการติดต่อได้ เช่น ตามภูมิลําเนา ถิ่นที่อยู่ หรือ สถานที่ทํางาน เป็นต้น ส่วนการติดต่อลูกหนี้ทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือติดต่อบุคคล สำหรับวันทำการให้ติดต่อได้ในเวลา 08.00-20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการติดต่อได้ในเวลา 08.00-18.00 น. เว้นแต่ได้ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากเจ้าหนี้ หรือผู้ทวงถามหนี้ ฝ่าฝืนจะมีบทกำหนดโทษ คือ 1. โทษทางปกครองจะถูกปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ตามมาตรา 24 2. โทษทางอาญาจะถูกเพิกถอนการจดทะเบียน และจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมายเหตุ สามารถเข้าไปอ่านพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ฉบับเต็มได้ที่ www.ratchakitcha.soc.go.th
"เจ้าหนี้" วอนลูกหนี้ "ใจเขาใจเรา"
แม้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อ "คุ้มครองลูกหนี้" จนเกิดกระแสตีปีกดีใจกันยกใหญ่ แต่ทางด้าน "เจ้าหนี้" ก็ขอส่งเสียงดังๆ ไปถึงลูกหนี้บ้างเช่นกัน
ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ได้สัมภาษณ์เปิดใจ "เจ้าหนี้" หลายราย โดยเจ้าหนี้รายแรก ในฐานะที่อยู่ในวงการปล่อยเงินกู้นอกระบบมานานกว่า 2 ปี "นิด" ในวัย 35 ปี บอกว่า ตัวกฎหมายที่ออกมาใหม่ ไม่ได้กระทบต่อการปล่อยกู้มากนัก เพราะส่วนตัวปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5-10 แถมไม่เคยใช้วิธีการทวงหนี้โหดกับลูกหนี้ แม้จะมีบ้างที่จะเลยกำหนดจ่าย แต่ก็ใช้วิธีคุยและเคลียร์กันด้วยดี
"เป็นแม่ค้าที่ปล่อยเงินกู้ในตลาดค่ะ เวลาปล่อยเงินกู้จะปล่อยในกลุ่มของแม่ค้าที่อยู่ใกล้ๆ ส่วนคนแปลกหน้า หรือมีคนพามา เราจะไม่ปล่อย เพราะต้องเสียเวลาเดินทางไปทวงหนี้ ซึ่งในกลุ่มของแม่ค้าก็มีการผ่อนปรนกันบ้าง บางวันขายของไม่ดีก็เข้าใจ บางคนเกินกำหนดไป 4-5 วัน เราก็จะบอกเขาดีๆ ว่า ต้องให้เราบ้างนะ เพราะปล่อยเป็นระบบเงินหมุน ส่วนตัวไม่เคยข่มขู่ หรือประจาณให้เสียหาย คนที่นี้ก็ไม่เคยพูดกันถึงเรื่องพ.ร.บ.ตัวใหม่นี้
ถามว่า พ.ร.บ.ตัวนี้ มีประโยชน์ต่อใคร ส่วนตัวรู้สึกเฉยๆ ค่ะ เพราะเราไม่ได้ใช้วิธีทวงหนี้โหด แต่จะช่วยปรามเจ้าหนี้ที่ปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละสูงๆ อย่าง ร้อยละ 15 หรือร้อยละ 20 ขึ้นไปแล้วใช้วิธีทวงหนี้โหดๆ เช่น ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย กฎหมายนี้ก็ช่วยคุ้มครองได้ แต่ตัวลูกหนี้เอง บางคนรู้ทั้งรู้ว่าดอกมันแพง แถมเจ้าหนี้ยังบอกอีกว่า เขาทวงหนี้โหดนะ ไหวหรือเปล่า ลูกหนี้บางคนก็..ไหวๆ พอถึงกำหนดชำระ กลับไม่มีให้ ดังนั้นก่อนจะกู้อยากให้คิดดีๆ เอามาแล้วส่งไหวหรือเปล่า วางแผนการเงินให้ดีๆ
อย่างไรก็ดี เธอบอกว่า คงต้องดูกันต่อไปว่าผลจากการบังคับใช้พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ 2558 จะเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดีสำหรับลูกหนี้และเจ้าหนี้ แต่สิ่งที่อยากจะฝากไปถึงลูกหนี้ทุกคนก็คือ ถ้าเลือกที่จะเป็นหนี้แล้ว ต้องมีความรับผิดชอบ อย่านิ่งเฉยในการชำระหนี้
"ลูกหนี้ก็ควรมีสำนึก ตอนมาเหมือนแทบกราบ พอได้เงินไปแล้วถึงเวลาคืนกลับไม่สนใจ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ทางที่ดีไม่สนับสนุนให้คนเป็นหนี้ค่ะ ควรใช้จ่ายอย่างประหยัด พอตัวกับรายได้ แต่บางคนเราก็เข้าใจนะ เขาเดือดร้อนจริงๆ ไปกู้ในระบบก็ไม่ผ่าน หยิบยืมเพื่อนก็แล้ว อะไรก็แล้ว สุดท้ายต้องมากู้นอกระบบ ดังนั้นตราบใดที่รัฐบาลยังไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ การกู้นอกระบบก็คงต้องมีอยู่"
เช่นเดียวกับ "ส้มโอ" ผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบในวัย 29 ปี เธอบอกว่า พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ 2558 ช่วยให้ลดปัญหาความรุนแรงในการทวงหนี้โหดได้ ส่วนลูกหนี้ก็ไม่ควรตีปีกดีใจกันไป เพราะหากมีพฤติกรรม "เบี้ยว หนี ไม่ยอมจ่าย" วันหนึ่งอาจไม่มีแหล่งเงินนอกระบบให้กู้ แถมบางแห่งอาจจะต้องใช้ไม้เด็ดด้วยการเช็กประวัติ ไปจนถึงขั้นต้องมีหลักทรัพย์เพื่อลดความเสี่ยงของการเบี้ยวหนี้
"เคยเจอลูกหนี้เบี้ยวหนี้เหมือนกันนะคะ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ โชคดีที่ปล่อยเงินกู้น้อย ส่วนตัวอยากให้ใจเขาใจเราค่ะ คุณไม่มีเราก็ให้ปล่อยให้กู้ บางคนก็เห็นใจเขานะคะ กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำที่จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ บางรายต้องไปกู้ดอกแพงๆ รับปากไว้ก่อนว่าได้ แต่พอถึงเวลากลับไม่มีให้ เมื่อมีความเสี่ยงของการเบี้ยวหนี้มากๆ เจ้าหนี้บางคนก็อาจจะปล่อยเงินกู้น้อยลง
ส่วนตัวจะปล่อยกับญาติๆ เท่านั้น เคยปล่อยให้คนในออฟฟิศแต่ถูกเบี้ยวหนี้ ซึ่งทำอะไรไม่ได้ สูญเงินไปเปล่าๆ ปกติไม่ใช่คนทวงหนี้โหดอยู่แล้วด้วย ทางที่ดี ใช้เงินให้พอตัว หากจำเป็นจริงๆ ก็ต้องคิด และวางแผนการใช้หนี้ให้ดีๆ" ผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบในวัย 29 ปี ทิ้งท้าย
จริงอยู่ที่การออกกฎหมายฉบับนี้ ไม่ต้องการให้มีความทารุณ หรือข่มขู่ในการทวงหนี้ แต่ถ้าคิดจะเป็น "ลูกหนี้" แล้ว ต้องมีความรับผิดชอบด้วย
ถ้ากู้แล้วไม่รู้จะคืนเมื่อไร "อย่ากู้" หรือ กู้แล้วไม่มีปัญญาคืน กรุณา "อย่ากู้" นี่เป็นมารยาทในการกู้ยืมเงินที่ "เจ้าหนี้" อีกรายฝากให้ลูกหนี้จด และจำ ก่อนจะฝากด้วยความหวังดีด้วยว่า "ชีวิตที่ไม่เป็นหนี้ คือชีวิตที่มีความสุข"
เช่นเดียวกับตอนหนึ่งในข้อเขียนของ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือ "แสงแห่งความคิด" แม้การเป็น "หนี้" เป็นเรื่องธรรมดาในยุคบริโภคนิยม โดยเฉพาะสำหรับบุคคลที่ไม่ได้มีมรดกตกทอดให้ใช้จ่ายได้อย่างสุขสบาย แต่การจัดการหนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
"หากชีวิตมีความสุขสบายได้โดยไม่เป็นหนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่หากต้องซื้อความสะดวกสบายด้วยการก่อหนี้ ต้องมีการวางแผน บริหารจัดการ และสร้างกรอบวินัยให้กับตัวเอง เพราะนั่นเป็นตัวกำหนดเส้นทางเลือกให้กับตนเองว่าจะเป็นหนี้อย่างมีความสุขหรือไม่มีความสุข นับแต่วันที่เริ่มเป็นหนี้และต่อเนื่องถึงอนาคต"
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754