xs
xsm
sm
md
lg

ตลท.เปิดแผนปี 60 หนุน Thailand 4.0 ตั้งเป้ามาร์เกตแคปเพิ่ม 5.5 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตลท.เผยแผนปี 60 หนุนการพัฒนา ศก. ตามนโยบาย Thailand 4.0 ขยายโอกาสระดมทุนใหม่ มุ่งอุตฯ ที่เป็นจุดแข็งประเทศ และ Startup ตั้งเป้ามาร์เกตแคปเพิ่ม 5.5 แสนล้านบาท จาก บจ.ที่ระดมทุนเพิ่ม และ บจ.ที่เข้าใหม่ ส่วนผลงานปี 59 ยังสร้างผลตอบแทนสุงสุดในอาเซียน และครองแชมป์มาร์เกตแคป 5 ปีต่อเนื่อง

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศกลยุทธ์หลักในปี 2560 ด้วยวิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market “Work” for Everyone” พัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน สร้างรากฐานการเติบโตไปพร้อมกันทั้งตลาดทุน เศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ ตามทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยของรัฐบาล Thailand 4.0

ด้านการระดมทุน มุ่งขยายโอกาสการระดมทุนของอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของประเทศ พร้อมสร้าง ecosystem ให้ Startup เข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้านการลงทุน ร่วมกับพันธมิตรสร้างวัฒนธรรมการลงทุนด้วย digital platform พร้อมรณรงค์ “การลงทุนสม่ำเสมอ” รองรับสังคมผู้สูงอายุ

ส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุน สร้าง platform รองรับธุรกิจในยุคดิจิตอล เน้นการปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากล พัฒนา CLMV Index พร้อมร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านสร้างธุรกิจในระดับภูมิภาค ต่อยอดความสำเร็จในปี 2559 ผลักดันให้ตลาดทุนไทยโดดเด่นที่สุดในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการ ตลท. กล่าวถึงแผนกลยุทธ์ ตลท.ในปี 2560 โดยระบุว่า ตลาดทุนไทยถือเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงกำหนดวิสัยทัศน์ในการมุ่งพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน (inclusive growth) ทั้งทางตรง และทางอ้อม พร้อมเดินหน้าสนับสนุนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐ Thailand 4.0 เพราะเชื่อว่าการเติบโตของภาคธุรกิจที่ดีจะนำไปสู่ความแข็งแกร่งของประเทศชาติ และส่งผลต่อการพัฒนาภาคสังคมไทยที่ดีขึ้น

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ในปี 2560 ตลาดหลักทรัพย์ฯ วางกลยุทธ์หลักเพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน 3 ด้าน ได้แก่

1.Fund-raising Cultivator ขยายโอกาสการระดมทุนในหลายรูปแบบ

·ผลักดันให้มีหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่ มุ่งเน้นอุตสาหกรรม และคลัสเตอร์เป้าหมายที่เป็นจุดแข็งของประเทศ เช่น กลุ่มอาหาร และกลุ่มพลังงานที่มีศักยภาพ เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมส่งเสริมให้ภาครัฐสามารถใช้ตลาดทุนเพื่อการระดมทุน และลดภาระหนี้สาธารณะ รวมถึงการจดทะเบียนของสินทรัพย์จากต่างประเทศที่มีศักยภาพ พร้อมขยายฐานความรู้ด้านการระดมทุนในตลาดทุนไปยังกลุ่ม High growth potential SMEs, Startups

· ส่งเสริมความแข็งแกร่งให้บริษัทจดทะเบียน โดยผลักดันการใช้เครื่องมือระดมทุนเพื่อขยายกิจการ พร้อมพัฒนาคุณภาพการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมการสนับสนุน social enterprise และการใช้ SET Social Impact Platform เพื่อความยั่งยืน พร้อมสร้างการรับรู้ในวงกว้างให้บริษัทจดทะเบียน โดยส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมคำนวณในดัชนีระดับโลก (DJSI & MSCI) และจัดทำ CLMV Index

· สร้าง Startup Ecosystem เพื่อเป็นรากฐานเศรษฐกิจไทย โดยเตรียมความพร้อมให้ Startup ด้วยการจัดอบรมพัฒนาให้สามารถเชื่อมโยง และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ พร้อมกับพัฒนา platform การซื้อขายของกลุ่มบริษัทดังกล่าว

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าตามราคาตลาดของหลักทรัพย์รวม 550,000 ล้านบาท มาจากบริษัทจดทะเบียนระดมทุนเพิ่ม 270,000 ล้านบาท และหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่ 280,000 ล้านบาท โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นจุดแข็งของประเทศเป็น 25% ของมูลค่าหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่

2.Investment Cultivator สร้างวัฒนธรรมการลงทุน ด้วยการพัฒนาทักษะความรู้ และส่งเสริมการลงทุนด้วย digital platform ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุนบุคคลทั้งการลงทุนในหุ้น กองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

· ร่วมกับพันธมิตรในตลาดทุน มุ่งสร้างวัฒนธรรมการออมการลงทุนให้คนรุ่นใหม่ หรือผู้เริ่มต้นลงทุนให้เกิด “การลงทุนสม่ำเสมอ” (Investment Saving Plan) สร้างการลงทุนระยะยาวต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยสร้าง platform ให้ความรู้ผ่าน application เพื่อสร้างฐานการลงทุนระยะยาว และรองรับสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งสร้าง Investment Portal เป็นศูนย์รวมข้อมูลการลงทุนใน multi-asset class สำหรับผู้ลงทุน

· ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงส่งเสริมให้นายจ้างจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ employee's choice

· เริ่มใช้ระบบ Fund Connext ในเดือน มี.ค.2560 ที่ทำให้ผู้ลงทุนเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมได้สะดวกขึ้น และเตรียมพร้อมพัฒนาการเป็นนายทะเบียนสมาชิก (Central Registrar) รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ (mandatory PVD)

ทั้งนี้ ตั้งเป้าสร้างผู้ลงทุนบุคคลใหม่ในตลาดหุ้น และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) รวม 110,000 คน

3.Excellent Infrastructure & Capability มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนไทยสู่ความเป็นเลิศ และการปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานสากล ให้พร้อมรองรับทิศทางธุรกิจในอนาคตที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศด้วยมาตรฐานสากลผ่าน digital platform ต่างๆ ดังนี้

· พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เช่น การมี Open Architecture และระบบ Cyber Security ที่เป็นมาตรฐานสากล

· ปรับปรุงกระบวนการทำงาน และระบบทั้งทางด้านส่งมอบหลักทรัพย์ และด้านการชำระเงิน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับลดระยะเวลาระบบชำระราคา และส่งมอบเป็น 2 วันทำการ หรือ T+2

· หารือร่วมกับตลาดหุ้นภูมิภาคในการพัฒนาให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ

จากแผนงานหลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2560 จะเห็นได้ว่ามีส่วนสำคัญในการสนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจ Thailand 4.0 ของรัฐบาล ได้แก่ การส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นจุดแข็งของประเทศให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด (New S-Curve) การสนับสนุน Startup ในหลายมิติ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีความเข้มแข็ง และเติบโต รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนที่นำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สอดคล้องกับ Thailand 4.0

นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างความรู้ทางการเงินเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต เนื่องจากเล็งเห็นว่า การเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคนในประเทศให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน

ดังนั้น นอกจากการขับเคลื่อนธุรกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมุ่งพัฒนาเชิงคุณภาพเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคมควบคู่กันไปด้วย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประชารัฐของรัฐบาลเพื่อรวมพลังทุกภาคส่วนมาใช้ในการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปการพัฒนาประเทศในทุกมิติอย่างยั่งยืน ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวสรุป

ในปี 2559 ตลาดหลักทรัพย์ยังคงแสดงศักยภาพที่โดดเด่นในระดับภูมิภาค (ณ 22 พ.ย.2559) ดัชนี SET Index สร้างผลตอบแทนสูงสุดใน ASEAN-5 โดยปรับเพิ่มขึ้น 15% อยู่ที่ 1,485.68 จุด ขณะที่สภาพคล่องครองอันดับหนึ่งติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ด้วยมูลค่าซื้อขายต่อวัน 53,443.33 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดจากการระดมทุนผ่านบริษัทจดทะเบียนใหม่ (IPO) สูงสุดใน ASEAN-5 อยู่ที่ 136,685 ล้านบาท และการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 273,473 ล้านบาท (ณ 30 ต.ค.2559) มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 14.88 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากสิ้นปี 2558 ด้านคุณภาพได้ผลักดันบริษัทจดทะเบียนให้ได้รับคัดเลือกเป็นองค์ประกอบในดัชนี Dow Jones Sustainability Index (DJSI) 14 แห่ง มากที่สุดในอาเซียน และสามารถยกระดับบรรษัทภิบาลของไทย ส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนไทยได้คะแนน ASEAN CG Scorecard เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น