PwC แนะจับตาการปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 คาดเงินลงทุนพุ่งปีละ 907 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ยอมรับบริษัททั่วโลกมีความตื่นตัว ด้านหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนไทยเริ่มตื่นตัว หลังรัฐบาลประกาศใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้แนวคิดไทยแลนด์ 4.0 คาดต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากเพื่อเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิตอล
นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงผลสำรวจ Industry 4.0 : Building the digital enterprise ที่ทำการสำรวจบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 2,000 รายจาก 9 อุตสาหกรรม ใน 26 ประเทศว่า ปัจจุบัน บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกกำลังตื่นตัวในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Industry 4.0) โดยเชื่อมเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ตเข้ากับทุกหน่วยการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ ถือเป็นยุคที่มีการบรูณาการระบบนิเวศทางดิจิตอลเข้ากับพันธมิตรในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain partners) โดยการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Data analytics) ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งนี้ คาดว่าจากนี้จนถึงปี 2563 อุตสาหกรรมทั่วโลกจะลงทุนปีละ 907,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
“เราเห็นกระแสการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกเพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างเต็มรูปแบบจากบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรม วันนี้ผู้ประกอบการเน้นไปที่การลงทุนในเทคโนโลยีสำคัญๆ เช่น เซ็นเซอร์ หรืออุปกรณ์เชื่อมต่อ ซอฟแวร์ และแอปพลิเคชัน เช่น ระบบประมวลผลสถานะ และระบบการผลิต รวมไปถึงการฝึกอบรมพนักงาน เพื่อผลักดันให้องค์เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่ต้องการ โดยบริษัทมากกว่าครึ่งที่ทำการสำรวจคาดหวังว่า จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนกลับคืนมาภายใน 2 ปี” นางสาว วิไลพร กล่าว
ปัจจุบัน ผู้นำบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงฟังก์ชันการทำงานภายในองค์กรให้เป็นดิจิตอล รวมทั้งมีการบรูณาการห่วงโซ่อุปทานทั้งในแนวราบ และแนวดิ่ง ไม่ว่าเป็นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การขนส่ง และลอจิสติกส์ ตลอดจนการมีพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น ซัปพลายเออร์ คู่ค้า และลูกค้า นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีฟังก์ชันการทำงานแบบดิจิตอล และบริการฐานข้อมูลอีกด้วย
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ของบริษัทที่ทำการสำรวจให้คะแนนอัตราการแปลงเป็นดิจิตอลของตน (Digitisation) อยู่ที่ระดับ 33% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 72% ภายใน 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้า รายได้ด้านดิจิตอลของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.9% หรือคิดเป็นรายได้ต่อปีที่ 493,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วยลดต้นทุนปีละ 421,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.6% ต่อปีโดยเฉลี่ย เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิตอลจะช่วยให้ย่นระยะการผลิตให้สั้นลง ทำให้สามารถนำสินทรัพย์มาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด และเพิ่มคุณภาพสินค้าให้สูงขึ้น
นางสาว วิไลพร กล่าวต่อว่า ไม่น่าแปลกใจที่หากบริษัททั่วโลกปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้สำเร็จ จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น และช่วยลดต้นทุนจำนวนมหาศาล เพราะยุคอุตสาหกรรม 4.0 เป็นการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ และข้อมูลแบบเรียลไทม์มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
“การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง” หัวใจสำคัญของอุตสาหกรรม 4.0
จากการสำรวจพบว่า การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 โดยมากกว่า 80% ของบริษัทที่ทำการสำรวจคาดว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าการวิเคราะห์ข้อมูลจะเข้ามามีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการวิเคราะห์ข้อมูลจะทำให้ทราบถึงความต้องการของลูกค้า ช่วยให้บริษัทสามารถพัฒนาสินค้า และบริการให้ตรงความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ โดยโรงงานยุค 4.0 จะสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายรูปแบบ และแตกต่างกันตามความต้องการของผู้บริโภคแต่ละราย
อย่างไรก็ดี ความท้าทายของธุรกิจ คือ การขาดการปลูกฝังวัฒนธรรมดิจิตอลภายในองค์กรที่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ และการฝึกอบรม รวมไปถึงการขาดผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอล โดยเกือบ 40% ของผู้บริหารที่ทำการสำรวจระบุว่า ยังอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ของพนักงานแต่ละคนเป็นหลัก แทนที่จะจัดตั้งแผนก หรือหน่วยงานขึ้นมาดูแล และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ ความปลอดภัยของข้อมูลก็ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจ โดยนางสาว วิไลพร กล่าวว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถป้องกันปัญหาการโจรกรรมข้อมูล และช่วยลดผลกระทบต่อระบบปฏิบัติการในองค์กร อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิตอลได้ดียิ่งขึ้น
นางสาววิไลพร กล่าวว่า ขณะที่บริษัท และอุตสาหกรรมชั้นนำต่างๆ ทั่วโลกต่างเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า บูรณาการด้านดิจิตอลขององค์กรทั่วโลกจะอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากนักในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่จะมีประเทศอย่างเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นประเทศผู้นำการปฏิวัตินี้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทในประเทศเยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้มีความพร้อมมากที่สุด จะเน้นไปที่การแปลงเป็นดิจิตอลทั้งในส่วนของการดำเนินงานภายในองค์กร และสร้างพันธมิตรในแนวราบ ส่วนในสหรัฐอเมริกา จะเกิดรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น เป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนสินค้า และบริการให้เป็นดิจิตอลของผู้ประกอบการ ขณะที่บริษัทผู้ผลิตในประเทศจีนเอง จะเน้นไปที่การลดต้นทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งจากต่างประเทศ
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบัน รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้โมเดลที่เรียกว่า “ประเทศไทย 4.0” ในระยะเวลา 3-5 ปี โดยจะเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) เปลี่ยนการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และดิจิตอล และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตไปสู่ภาคการบริการมากขึ้น ซึ่งหากทำสำเร็จจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศได้อย่างมาก และน่าจะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาวอีกด้วย
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายของภาครัฐในการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลที่สมบูรณ์ รวมทั้งการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อเป็นรากฐานในการก้าวไปสู่ยุค 4.0 ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนด้านนี้เป็นจำนวนมหาศาล ด้านผู้ประกอบการไทยเองก็เริ่มตื่นตัวในการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า และบริการของตนเอง โดยหลายบริษัทเริ่มกันเงินงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อลงทุนด้านดิจิตอลไว้ด้วยเช่นกัน