xs
xsm
sm
md
lg

จับตายหุ้น “เคซี” ชุมชนหุ้น By สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บริษัท เคซี พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กำลังเป็นหุ้นอีกตัวที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพ่งเล็งเป็นพิเศษ โดยล่าสุด ถูกสั่งให้ชี้แจงรายละเอียดการซื้อขายที่ดิน 3 รายการ มูลค่ารวมประมาณ 300 ล้านบาท ที่ดิน 3 รายการที่ “เคซี”อยู่ระหว่างซื้อขาย ผู้ตรวจสอบบัญชีบริษัทเคยตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนหน้า และเป็นสาเหตุสำคัญที่ไม่รับรองงบการเงินไตรมาสที่ 3

ที่ดินแปลงหนึ่งมีปมที่ตลาดหลักทรัพย์ตั้งข้อสังสัย คือ เหตุใดบริษัทในเครือจึงซื้อคืนมา หลังจากขายให้บุคคลอื่นไปแล้วภายในเวลาเพียง 1 เดือน และรวมทั้งความสำคัญระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย มีความเกี่ยวโยงกันหรือไม่ ที่ดินอีกแปลงหนึ่งแถวบางปะอิน มูลค่า 190 ล้านบาท ที่ “เคซี” จะซื้อ ปรากฏว่า ไม่ได้จ่ายเงินมัดจำให้แก่ผู้ขายโดยตรง และมีการจ่ายเงินค่ามัดจำหลายสิบล้านบาทเร็วกว่ากำหนด และยังมีคำถามเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลของการกำหนดรับมอบที่ดินในอีก 18 เดือนข้างหน้า

ส่วนที่ดินแปลงสุดท้าย ริเวณแพรกษาใหม่ มูลค่า 100 ล้านบาท ที่ “เคซี” จะขาย ซึ่งมีค่าโอน 9.3 ล้านบาท ค่านายหน้า 5 ล้านบาท และค่าแนะนำลูกค้าอีก 5.34 ล้านบาท ซึ่งตลาดหลักทรัพย์สั่งให้เปิดเผยรายชื่อผู้รับค่านายหน้า และบุคคลที่แนะนำลูกค้า รวมทั้งการระบุความสัมพันธ์กับผู้ซื้อที่ดินว่า มีความเกี่ยวโยงกันหรือไม่ ตลาดหลักทรัพย์ยังสั่งให้ผู้บริหาร “เคซี” ชี้แจงถึงกรอบการอนุมัติวงเงินและอำนาจการทำรายการของบริษัท พร้อมทั้งรายชื่อผู้อนุมัติการทำรายการซื้อขายที่ดินทั้ง 3 รายการ และอธิบายเกณฑ์การกำหนดราคาซื้อขาย ราคาประเมิน วันที่ได้รับราคาประเมิน และชื่อผู้ประเมิน ราคา พร้อมระบุว่า ป็นผู้ประเมินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.หรือไม่

ทำไมตลาดหลักทรัพย์จึงต้องเพ่งเล็งการซื้อขายที่ดินของ “เคซี” ตอบกันตรงๆ คือ การซื้อขายที่ดินทั้ง 3 รายการมีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจ และอยู่ในข่ายที่ตั้งข้อสงสัยได้ว่าจะเป็นวิธีการไซ่ฟ่อนเงินออกจากบริษัทหรือไม่ เพราะพฤติกรรมในลักษณะเดียวกันเคยเกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนอื่นมาแล้ว โดยเป็นคดีที่มีการร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระหว่างผู้ถือหุ้นกับฝ่ายบริหารบริษัท กรณีบริษัท กรีน รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จำกัด หรือหุ้น “กรีน”

ผู้ถือหุ้นกรีน ได้ยื่นร้องเรียน ก.ล.ต. สงสัยพฤติกรรมผู้บริหาร ขอให้ตรวจสอบการทำรายการซื้อที่ดิน และการลงทุนในบางโครงการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท โดยเฉพาะการมัดจำที่ดินในมูลค่าหลายสิบล้านบาท แต่ถูกปล่อยให้ถูกยึดมัดจำ เพียงแค่ข้ออ้างว่า หุ้นกรีน เป็นหุ้นที่มีประวัติโชกโชน เปลี่ยน “เจ้ามือ” มาเรื่อย เปลี่ยนชื่อบริษัทมาแล้ว 3 ครั้ง เพื่อให้นักลงทุนหน้าใหม่ๆ จำพฤติการณ์ในอดีตไม่ได้ จากกลุ่มของ นายกมล เอี้ยวศิวิกุล ล่าสุด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ และเป็นเจ้ามือรายที่ 3

การวางมัดจำซื้อที่ดิน และปล่อยให้ค่ามัดจำถูกยึด ถ้าไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการควบคุม ไม่กำหนดความรับผิดชอบของผู้อนุมติ ก็จะกลายเป็นช่องทางในทางผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัทจดทะเบียน ปล้นเงินจากผู้ถือหุ้นด้วยวิธีง่ายๆ และเมื่อบริษัทหนึ่งทำได้ บริษัทอื่นก็จะลอกเลียนแบบตาม ซึ่ง“เคซี”ก็กำลังมีพฤติกรรมลักษณะเดียวกับ “กรีน”

“เคซี” น่าจะเป็นหุ้นอีกตัวที่ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นบัญชีการติดตามพฤติกรรมไว้ เพราะก่อนหน้า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ราคาหุ้นตัวนี้เคยพุ่งพรวดอย่างไร้เหตุผล จากราคา1.42 บาท ทะยานขึ้นมาปิดที่ 1.70 บาท เพิ่มขึ้น 28 สตางค์ หรือกว่า 19% มูลค่าการซื้อขายพุ่งกว่า 170 ล้านบาท ทั้งที่วันก่อนหน้าซื้อขายกันเพียงประมาณ 2 ล้านบาท

ตลาดหลักทรัพย์ทำงานฉับไวอย่างน่าชมเชยกรณีหุ้นเคซี เพราะสั่งถามไปยังบริษัททันทีว่า เกิดอะไรขึ้นกับราคาหุ้น และเมื่อบริษัทชี้แจงกลับมาว่า ไม่มีข่าวอะไรที่เป็นนัยสำคัญต่อราคา หุ้นเคซีวันต่อมาจึงกลับสู่การซื้อขายปกติ ราคาหุ้นหยุดความร้อนแรง มูลค่าซื้อขาย “แฟบ” ลง ปฏิบัติการที่รวดเร็วในการหยุดยั้งหุ้นร้อน ตลาดหลักทรัพย์ควรนำบรรทัดฐานที่ใช้กับหุ้นเคซี กำหนดเป็นมาตรการใช้กับหุ้นทุกตัวที่หวือหวา โดยเมื่อราคาหุ้นเคลื่อนไหวผิดปกติต้องรีบขอคำชี้แจงจากฝ่ายบริษัทบริษัททันที ไม่ใช่ปล่อยให้ปั่นกันไป 5 วัน 7 วัน จึงมีมาตรการดับความร้อนแรง การสั่งให้ฝ่ายบริหารบริษัทเคซีแจกแจงปมการซื้อขายที่ดิน 3 รายการ เป็นการตอกย้ำว่า หุ้นตัวนี้ถูกเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดจากตลาดหลักทรัพย์ ก่อพฤติกรรมที่น่าสงสัยเมื่อไหร่ ตลาดหลักทรัพย์โดดเข้ามาตรวจสอบทันที คงต้องรอดูว่าฝ่ายบริหาร “เคซี” จะมีคำชี้แจงปมซื้อขายที่ดินออกมาอย่างไร แต่เชื่อว่าถึงอย่างไรคงแก้ต่างข้อสงสัยออกมาจนได้ แม้จะมีข่าวว่า การอนุมัติทำรายการซื้อขายที่ดินบางแปลงจะเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการจัดทำราคาประเมินที่ดินก็ตาม

หุ้นเคซี อยู่ในข่ายหุ้นที่ถูกตลาดหลักทรัพย์เฝ้า“จับตาย”แล้ว เพราะมีพฤติกรรมที่ชวนสงสัยในความไม่โปร่งใส แต่หุ้นที่มีพฤติกรรมชวนน่าสงสัยในการผ่องถ่ายเงินไม่ได้มีเฉพาะหุ้นเคซีเท่านั้น บางทีก็รู้ๆ กันอยู่ว่า บริษัทจดทะเบียนแห่งใดมีการไซ่ฟ่อนเงิน เจ้ามือหุ้นตัวไหนกำลังปล้นเงินของผู้ถือหุ้นรายย่อย แต่สิ่งที่นักลงทุนยังหาคำตอบไม่ได้ คือ ตลาดหลักทรัพย์จะจัดการอย่างไรต่อบริษัทจดทะเบียนที่สร้างธุรกรรมตบตา พื่อโกงผู้ถือหุ้น

ชุมชนคนหุ้น
สุนันท์ ศรีจันทรา
กำลังโหลดความคิดเห็น