บิ๊ก “กานดา” เผยสถานการณ์ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ยังชะลอตัว พบยอดโอนกรรมสิทธิ์-เปิดตัวโครงการใหม่-ปล่อยสินเชื่อหดตัวอย่างละ 10% ชี้ผู้บริโภคปรับตัวเลือกซื้อที่อยู่อาศัยเหมาะสมกำลังซื้อ แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ ผู้ประกอบการชะลอเปิดคอนโดใหม่ เป็นสัญญาณที่ดีของการปรับตัวสู่สมดุลตลาดทั้งดีมานด์ และซัปพลาย มั่นใจตลาดปลายปี 59 ต่อเนื่องปี 60 ขยายตัวดี เหตุภาคเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องจากการลงทุนของภาครัฐ และเอกชน แย้มแวดวงอสังหาฯ ปี 60 ยังเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มขึ้น พร้อมเผยแผนปี 2560 กานดาฯ ผุด 6 โครงการใหม่
นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัทกานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2559 ว่า การปรับตัวของผู้ประกอบการอสังหาฯ กลุ่มผู้บริโภค และสถาบันการเงิน เป็น 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ในปีนี้มีการหดตัวของตลาดใน 3 ด้าน คือ การหดตัวของยอดโอนกรรมสิทธิ์ การหดตัวของการเปิดตัวโครงการใหม่ หรือการเข้าสู่ตลาดของซัปพลายใหม่ และการหดตัวของยอดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่สะท้อนทิศทางตลาดอสังหาฯ ในปี 59 ว่า มีการปรับตัวเข้าสู่สมดุลได้ดี ส่งผลให้โอกาสเกิดภาวะโอเวอร์ซัปพลายในอนาคตลดลง
“การหดตัวของตลาดรวมทั้ง 3 ด้านดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผล และเป็นทิศทางที่ดีต่อตลาดอสังหาฯ โดยรวม เนื่องจากในช่วง 3 ปีก่อนหน้า มีการขยายตัวของตลาดคอนโดมิเนียมที่ร้อนแรงทำให้เกิดซัปพลายใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ดังนั้น ในช่วง 1-2 ปีมานี้ การที่ตลาดชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ลง และมีการมาตรการรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านธุรกิจอสังหาฯ เข้ามา ทำให้สามารถระบายสต๊อกคอนโดออกไปได้มาก และในปีนี้เองโครงการคอนโดใหม่ก็มีจำนวนไม่มาก ทำให้ตลาดกลับเข้าสู่สมดุลทั้งในด้านดีมานด์ และซัปพลาย”
ทั้งนี้ บริษัทคาดการณ์ว่า ในปี 59 ตลาดรวมทั้งแนวราบ และแนวสูง จะมีการหดตัวของการเปิดตัวโครงการใหม่ลงจากปีก่อนหน้า 10-11% ขณะที่ยอดโอนในปีนี้ก็จะหดตัวลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 10% ส่วนภาคสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย คาดว่าจะหดตัวลงประมาณ 10% เช่นกัน โดยในส่วนของการหดตัวของการเปิดตัวโครงการใหม่นั้น เกิดจากการชะลอการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียม เนื่องจากยังมีซัปพลายสะสมในตลาดจากปีก่อนๆ เหลืออยู่ค่อนข้างมาก
ส่วนการหดตัวของยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยนั้น เกิดจากในปี 58 เป็นปีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมมากที่สุด เพราะคอนโดมีการเปิดตัวในช่วง 2-3 ปีก่อนนี้ ครบกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 58 จำนวนมาก ประกอบกับปลายปีที่แล้วรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ โดยการลดหน่อยค่าธรรมเนียมการโอน ทำให้ยอดโอนที่อยู่อาศัยทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปี โดยในปี 58 นั้น มียอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยสูงถึง 1.9 แสนหน่วย
ขณะที่ในปีนี้ แม้โครงการอาคารชุดจะมีการเปิดตัวน้อยลง แต่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ก็ถือว่าลดลงจากปีก่อนหน้าไม่มาก เนื่องจากยังมีผลของมาตรการรัฐต่อเนื่องมาจนถึงเดือนเมษายน ทำให้ในช่วงต้นปีมียอดของการโอนกรรมสิทธิ์ค่อนข้างมากจากโครงการอาคารชุดที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงต้นปี รวมถึงการรับโอนสต๊อกซัปพลายพร้อมอยู่ของผู้ประกอบการด้วย คาดว่าเมื่อรวมกับยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจนถึงสิ้นปีนี้จะมียอดโอนกรรมสิทธิ์ลดลงจากปี 58 ประมาณ 10% เท่านั้น โดย ณ 10 เดือนของปี 59 นี้มียอดโอนกรรมสิทธิ์โตจากช่วงเดียวของปีก่อนอยู่ที่ 30%
“สำหรับยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 59 คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนหน้า 10% ตามสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ลดลง และการปรับตัวในของสถาบันการเงิน โดยการเข้มงวดการพิจารณาปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทั้งในส่วนของโครงการ และรายย่อย โดยในปี 59 นี้ยอดปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินอยู่ที่ 1.3-1.5 แสนล้านบาทต่อไตรมาส ทั้งนี้ ยอดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยรวมของปี 58 ทั้งปีอยู่ที่ 5.7 แสนล้านบาท”
นายอิสระ กล่าวว่า นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับตัวของผู้บริโภคในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยก็ถือว่าอยู่ในทิศทางที่ดี โดยผู้บริโภคมีการปรับลดงบประมาณในการซื้อที่อยู่อาศัยลงตามกำลังซื้อของตนเอง ทำให้ราคาขายเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยในปีนี้ลดลงมาอยู่ที่ 2.59 ล้านบาทจากปีก่อนที่ราคาเฉลี่ยที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 3 ล้านบาท การลดลงของราคาเฉลี่ยที่อยู่อาศัยในปีนี้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าราคาขายเฉลี่ยบ้านไม่เพิ่มขึ้น แต่ก็ลดลงสู่ราคาที่เหมาะสม แต่ถือเป็นทิศทางที่ดี เพราะเกิดจากการปรับตัวของดีมานด์ และซัปพลายให้เหมาะสมกับสภาพตลาด และกำลังซื้อที่แท้จริงของผู้บริโภค
สำหรับภาพรวมในช่วงปลายปี 59-60 มั่นใจว่าตลาดจะยังขยายตัวในทิศทางที่ดี แต่ที่อยู่อาศัยนับเป็นสินค้าชิ้นใหญ่ที่เมื่อซื้อแล้วจะมีความผูกพันด้านค่าใช้จ่ายระยะยาว ดังนั้น การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคจึงมีการวางแผนก่อนตัดสินใจ และเตรียมความพร้อมมาก่อนหน้าจะตัดสินใจซื้ออยู่แล้ว ไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจระยะสั้น ขณะที่ในปี 60 นั้น แนวโน้มของภาคการบริโภคยังมีอัตราการขยายตัวที่ดี การลงทุนเองก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจในปีหน้าขยายตัวดีกว่าในปีนี้
“จากการพูดคุยกับเพื่อนๆ ในวงการอสังหาฯ ในเรื่องการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ในปี 60 นั้น เท่าที่ทราบ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีแผนการขยายการลงทุนต่อเนื่องจากปีนี้ แม้ว่าในส่วนของการจัดกิจกรรมตลาดนั้น อาจจะลดลง หรือจัดกิจกรรมเล็กๆ แทนการจัดกิจกรรมใหญ่ๆ อย่างเช่นที่ผ่านมา โดยในส่วนของกานดาฯ มีแผนจะเปิดโครงการใหม่ในปี 60 ประมาณ 6 โครงการ”