xs
xsm
sm
md
lg

TMB Analytics ชี้ ศก.ไทย Q4/59 ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้มีความเสี่ยงจาก ศก.โลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


TMB ชี้ ศก.ไทย Q4/59 ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้มีความเสี่ยงจาก ศก.โลก พร้อมคาด กนง.คงดอกเบี้ยถึงสิ้นปี 60 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทาง ศก. และทิศทาง ศก.โลกที่มีส่งผลกระทบในอนาคต

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/59 ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี ขณะที่ในปีหน้าการส่งออก และการลงทุนภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ส่วนของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น อยู่บนเป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งตัวชี้วัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีตัวหนึ่งก็คือ output gap โดยเป็นตัวบ่งชี้ระดับผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ว่า ต่างจากระดับผลผลิตศักยภาพเท่าใด โดยหากระดับ GDP อยู่เหนือระดับศักยภาพ output gap จะเพิ่มขึ้นจนเป็นบวก แล้วเกิดมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ธปท.ก็สามารถขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจลง ในทางตรงข้ามหาก output gap ลดลงจนกระทั่งติดลบก็สามารถลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้หากไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

หากพิจารณา output gap ของไทยจะเห็นว่า ค่อยๆ ลดลงตั้งแต่ปี 2012 จนกระทั่งติดลบในช่วงปี 2014 เนื่องจากความไม่สงบทางการเมืองในขณะนั้น ธปท. จึงใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่องจาก 2.75% ในปี 2012 เหลือ 1.50% ในปี 2015 จนถึงปัจจุบัน

แต่จากสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มปรับดีขึ้นตั้งแต่ปี 2015 ทำให้ output gap เริ่มขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตามคาดการณ์ของศูนย์วิเคราะห์ฯ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.3% และ 3.5% ในปี 2016 และ 2017 ตามลำดับ ทำให้ output gap เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และกลับเป็นบวกได้ในปี 2017

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ output gap จะกลับเป็นบวก แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่มีความกดดันด้านเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อคาดว่า จะอยู่ที่ระดับ 0.4% และ 2.0% ในปี 2016 และ 2017 ซึ่งยังไม่เกินเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ ธปท.กำหนด อีกทั้งยังมีความผันผวนจากเศรษฐกิจ และการเมืองต่างประเทศที่น่ากังวล โดยความผันผวนดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการไหลเข้าของเงินทุนอย่างรุนแรง ทำให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก และนำเข้าได้ แต่ ธปท.ก็มีเครื่องมือทางตลาดการเงินต่างๆ เพื่อดูแลสภาพคล่องในประเทศ และดูแลค่าเงินบาท จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายการเงินผ่านกลไกดอกเบี้ย

ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อเนื่องยาวถึงสิ้นปีหน้า เนื่องจากยังเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ยังไม่มีความกดดันด้านเงินเฟ้อ และเพื่อรอดูทิศทางเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น