KTBST มองทิศทาง SET เดือน พ.ย. แกว่งลง เพราะมีปัจจัยกวนตลาดเข้ามาเป็นระยะ และต่างชาติยังขายจากปัจจัยกดดัน แนะติดตาม FOMC การเลือกตั้งสหรัฐฯ และงบฯ ไตรมาส 3/59 คาดช่วงปลายเดือนตลาดจะซึมซับผลของปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้ดัชนีฯ น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นได้
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST เปิดเผยถึงตลาดหุ้น และกลยุทธ์การลงทุนในเดือน พ.ย. โดยเชื่อว่า ในเดือนนี้โดยเฉพาะช่วงต้นเดือนที่มีปัจจัยกวนตลาดเข้ามาเป็นระยะ นักลงทุนต่างประเทศน่าจะยังขายหุ้นอยู่ แต่จะเริ่มซื้อกลับเมื่อความคลุมเครือหลายๆ เรื่องผ่านไป ซึ่งคาดว่าแรงซื้อจะกลับมาอย่างเร็วก็ปลายเดือน พ.ย.59
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เคยเป็นบวกต่อตลาดเริ่มมีน้อยลง บางปัจจัยพลิกมาเป็นลบ เช่น แนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. ทำให้นักลงทุนมีการปรับพอร์ต รับดอกเบี้ยสหรัฐฯ และราคาน้ำมันที่ผันผวนมากขึ้น หลังกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ยังไม่สามารถตกลงในเรื่องลดการผลิตได้
ในเดือน พ.ย.59 แรงขายของนักลงทุนต่างประเทศจะยังมีต่อในเดือนนี้ เพื่อรับกับดอกเบี้ยสหรัฐฯ และตลาดเริ่มหมดข่าวในเชิงบวก ดัชนีฯ จะมีความผันผวนสูงโดยเฉพาะช่วงต้นเดือนที่จะมีการประชุม FOMC และเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และที่เป็นเรื่องของตลาดหุ้นไทยโดยตรง คือ การนำส่งงบการเงินช่วง 2 สัปดาห์แรก และตัวเลข GDP ไตรมาส 3 อย่างไรก็ตาม คาดว่า
ทั้งนี้ ตัวแปรของตลาดที่ต้องติดตาม คือ การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) วันที่ 1-2 พ.ย.นี้ และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พ.ย. ทั้งสองเรื่องตลาดสะท้อนผลที่จะออกมาแล้วนั่นคือ เฟดคงดอกเบี้ย และนางฮิลารี คลินตัน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถ้าไม่พลิกโผไปจากนี้จะเป็นบวกต่อตลาด แต่จะมากน้อยแค่ไหน หรืออาจจะพลิกเป็นลบ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือ การประชุม FOMC ในเรื่องการตีความของผลประชุมว่า ถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ยเดือนนี้ เดือน ธ.ค.จะขึ้นหรือไม่ คณะกรรมการกังวลในเรื่องใด และจะขึ้นแบบต่อเนื่อง หรือครั้งเดียวแล้วหยุดดูสถานการณ์เหมือนปีก่อนหรือไม่ และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ถ้านางฮิลารี ชนะการเลือกตั้ง ตลาดจะเป็นบวก เพราะนโยบายไม่ได้เป็นลบต่อการค้าการลงทุนเหมือนของทรัมป์ แต่หลังจากนี้คงต้องไปดูว่า นโยบายนางฮิลารีจะทำได้จริงหรือไม่
ขณะที่ราคาน้ำมันเห็นได้ว่า ความร่วมมือของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน มีน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ทั้งใน และนอกกลุ่ม OPEC หลายรายยืนยันที่จะคงกำลังการผลิตเท่าปัจจุบัน หากเป็นเช่นนี้ เมื่อถึง 30 พ.ย. ซึ่งจะเป็นการประชุมประจำปีของกลุ่ม OPEC และจะประชุมกับผู้ผลิตมันนอกกลุ่ม เพื่อตัดสินใจในเรื่องการลด หรือคงกำลังการผลิต ก็อาจจะประสบความล้มเหลวเหมือนเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยการที่ OPEC และผู้ผลิตบางรายเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้การหารือครั้งนี้ดูยากขึ้น ซึ่งประเมินว่า หากไม่สามารถตกลงกันได้ คือ ทำให้ supply น้ำมันดิบลดลงน้อยกว่า 0.4 ล้านบาร์เรล ราคาน้ำน่าจะกลับมาซื้อขายในกรอบ 40-50 เหรียญสหรัฐ แต่ลดลงมากกว่านี้จะทำให้ราคาน้ำมันดิบอยู่ในกรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐได้
อีกปัจจัยสำคัญ คือ ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของบริษัทในตลาดที่จะรายงานวันสุดท้ายวันที่ 14 พ.ย. (ขึ้น “SP” เช้า 15 พ.ย.) คาดกำไรของบริษัทใน SET จะออกมาดีกว่าที่เคยคาดเล็กน้อย จากกำไรกลุ่มธนาคารที่ออกมาดี โดยประเมินไว้ ที่ 2.39 แสนล้านบาท จาก 1.2 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 2.8% จากไตรมาส 2 แนวโน้มผลประกอบการของหุ้นขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มน้ำมัน ปิโตรเคมี ก่อสร้าง ผู้ประกอบการโทรศัพท์ ส่วนใหญ่จะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และการแข่งขันในอุตสาหกรรม ขณะที่หุ้นขนาดกลาง หรือเล็ก หรือหุ้นที่ไม่อิงกับภาวะเศรษฐกิจมากนัก หรือผลผลิตสินค้าที่มีการเติบโต ผลการดำเนินงานจะดีเหมือน 2 ไตรมาสแรก ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 4 เริ่มเห็นว่า หุ้นที่อิงธุรกิจส่งออกจะเริ่มดีขึ้น ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ลดลงในช่วงไตรมาส 4 จะขึ้นอยู่กับมาตรการกระตุ้นว่าจะมีพลังมากเพียงใด แต่ KTBST ประเมินว่า หุ้นที่ได้รับผลบวกจากมาตรการภาครัฐ ส่วนใหญ่ คือ หุ้นที่ฐานรายได้ในเขตภูมิภาค จะมีกำไรที่ดีในไตรมาส 4 ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้แต่หุ้นกลุ่มรับเหมาฯ กำไรน่าจะเริ่มดีตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป
ดังนั้น กลยุทธ์ช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. แนะให้ชะลอดูผลของตัวแปรสำคัญๆ โดยเฉพาะการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ซึ่งหุ้นที่เป็น Domestic จะถูกกลับมาเล่นกันอีกครั้ง หลังรัฐบาลจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจกันต่อ รวมทั้งการลงทุน และการประชุมงานต่างๆ ของภาครัฐที่จะมากขึ้น รวมไปถึงหุ้นที่มีฐานรายได้ในเขตภูมิภาคด้วย การเข้าซื้อหุ้นขนาดใหญ่โดยที่ไม่ได้มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ควรรอให้แรงขายของนักลงทุนต่างประเทศเบาบางลงก่อน ซึ่งคาดว่าหลังผ่านช่วงกลางเดือนไปแล้ว
สำหรับทิศทางดัชนีฯ ที่จะเห็นได้ว่าปัจจุบันไม่สามารถไปต่อได้ เนื่องจากยังคงถูกกดดันให้เป็นขาลง แต่เป็นการลงในลักษณะแกว่งตัวออกข้าง (Sideway) หรือกำลังรอทิศทางที่ชัดเจน ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งทางขึ้น และลง โดยประเมินดัชนีการขึ้น และลงว่า หากดัชนีเป็นขาขึ้น และสามารถยืนได้ที่ระดับ 1,500 จุด ก็ยังมองว่า แรงขาขึ้นยังจำกัด ดัชนีน่าจะอยู่ที่ 1,520-1,540 จุด แต่หากดัชนีปรับตัวลงแนวรับน่าจะแกว่งในกรอบ 1,450-1,410/1,400 จุด โดยรวมมองกรอบดัชนี SET ที่ 1,410-1,520/1,540 จุด