“คลัง” เตือนแชร์ลูกโซ่ออนไลน์ระบากหนัก แนะประชาชนหลงเชื่อ หรือเป็นเหยื่อเข้าไปติดกับ เพราะมักจูงใจด้วยผลตอบแทนสูง แต่ส่วนใหญ่มีลักษณะฉ้อโกง หวั่นกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน (สพช.) เร่งดำเนินงานเชิงรุก จับตาขบวนการแชร์ลูกโซ่ หรือแชร์ออนไลน์ ด้วยการสร้างเครือข่ายผ่านโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก ผ่านเฟสบุ๊ก หรือไลน์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันพร้อมประกาศเตือนให้ความรู้ทางการเงิน รวมถึงให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากขณะนี้เกิดการเผยแพร่อยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยการสร้างความจูงใจเข้ามาเล่นแชร์ พร้อมข้อเสนอจ่ายผลตอบแทนสูง โดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะการฉ้อโกง หากประชาชนหลงเชื่อ หรือเป็นเหยื่อเข้าไปติดกับ อาจส่งผลกระทบต่อความเสียหายของทรัพย์สินประชาชนได้
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า แชร์ออนไลน์ ผ่านเฟสบุ๊ก และไลน์ มีจำนวนเพิ่มขึ้น สร้างความเสียหายในวงกว้าง แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ ส่วนแรก เป็นการกู้ยืมเงินนอกระบบ แอบแฝงแชร์ออนไลน์ โดยจะมีท้าวแชร์ หรือเจ้าหนี้จะเชิญเพื่อนจากเฟสบุ๊ก มาตั้งกลุ่มในไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นการเล่นแชร์ระยะสั้นๆ ที่ประกาศเปิดวงแชร์ มีกำหนดการส่งเงินที่ชัดเจน และให้สมาชิกในกลุ่มประมูล หรือเสนอเงินดอกเบี้ยที่สูง พร้อมกำหนดการส่งเงินดอกเบี้ย พร้อมเงินต้นที่แน่นอน ซึ่งเงินที่ได้รับ และที่ต้องจ่ายจะโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารตามที่ตกลงไว้ โดยสมาชิกที่ได้เงินไปจะต้องถ่ายรูปบัตรประชาชนส่งให้ท้าวแชร์ทางไลน์ก่อน หากสมาชิกคนที่ได้เงินไปแล้วผิดสัญญา ท้าวแชร์จะส่งคนไปข่มขู่ตามที่อยู่ในบัตรประชาชน
ขณะที่รูปแบบที่ 2 การเล่นแชร์แบบจงใจฉ้อโกง โดยมีรูปแบบการตั้งกลุ่มคล้ายส่วนแรก ด้วยการเชิญเพื่อนเพื่อนจากเฟสบุ๊ก มาตั้งกลุ่มในไลน์ แต่มีสมาชิกจำนวนมา แต่เกิดการตั้งวงแชร์หลายวง มีการกำหนดการส่งเงินเป็นงวดๆ เท่าๆ กันตามจำนวนมือที่เล่น ตามวันเวลาที่ระบุไว้แน่นอน เมื่อสมาชิกวงแชร์ส่งเงินงวดให้ท้าวแชร์ตามกำหนดเวลาที่ตกลง พร้อมทั้งประมูล หรือเปียแชร์ โดยเสนอเงินดอกเบี้ยที่สูงที่จะจ่ายในงวดต่อๆ ไป โดยผู้ให้ดอกเบี้ยสูงสุดจะได้รับเงินกองกลางไปในแต่ละงวด แต่ท้าวแชร์ไม่ส่งเงินกองกลางให้กับสมาชิกที่ประมูลได้ตามจำนวนของวงเงินที่กำหนดไว้ ที่จะจ่ายในงวดต่อๆ ไป หรือไม่มีการประมูลจริง ท้าวแชร์แค่สมมติว่า มีการประมูลผลตอบแทนขึ้น เพื่อตนจะได้เงินจากสมาชิกอื่น ส่งผลให้ประชาชนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินจำนวนมาก
“ส่วนหนึ่งของการเกิดแชร์ออนไลน์ เชื่อว่าจะมาจากปัจจุบัน การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การชักชวน ร่วมลงทุน ทั้งการลงทุนจริง หรือตั้งใจหลอกลวง ทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่ง สศค. ทำได้เพียงการให้ความรู้การเงิน แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่ที่ประชาชนอย่าหลงเชื่อว่าจะได้รับผลตอบแทนที่สูง โดยสั่งการให้ สพช. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกันหารือการป้องกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนเป็นเหยื่อ หรือเข้าไปหลงเชื่อกับการเล่นแชร์ออนไลน์อีก”
อย่างไรก็ตาม การเล่นแชร์ออนไลน์ตามลักษณะดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 เนื่องจากเข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชน จะได้รับโทษทางกฎหมาย ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ กำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 บัญญัติว่า ผู้ใดโฆษณา หรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำการด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงิน หรือบุคคลใดจะจ่าย หรืออาจจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ ถือกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 บาท ถึง 1 ล้านบาท เป็นต้น