MGR Online - ดีเอสไอนำตัว 24 ผู้ต้องหาแม่ทีมบริษัท ไนน์ท๊อปอัพ ผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เสียหายร่วม 102 ล้านบาท ส่งสำนักงานอัยการ
วันนี้ (15 ก.ย.) เวลา 09.30 น. สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ได้มอบหมายให้คณะพนักงานสอบสวน สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมด 24 รายซึ่งเป็นแม่ทีมของบริษัท ไนน์ท๊อปอัพ คดีพิเศษที่ 139/2558 เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2558 ในฐานความผิดร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5, 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ประกอบมาตรา 83 มูลค่าความเสียหาย 102,460,542 บาท โดยมีผู้เสียหายจำนวน 628 คน พร้อมนำสำนวนการสอบสวนส่งสำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก
นายสรรเสริญ ธรรมโชติ เลขานุการคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายเดินทางมาร้องเรียนดีเอสไอเมื่อเดือน มิ.ย. 2558 กรณีบริษัท ไนน์ท๊อปอัพ จำกัด ได้ชักชวนให้สมัครสมาชิกและลงทุนในโปรแกรมระบบเคาน์เตอร์เซอร์วิส Smart Topup System (STS) และต่อมาได้นำระบบ Service Point System (SPS) มาให้สมาชิกซื้อขายหน่วยลงทุนที่เรียกว่า RP และบริษัทฯ เสนอผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ 10 ต่อรอบ เมื่อกระดานหน่วยลงทุนที่ตั้งไว้ลดลงเป็นศูนย์หรือกระดานแตก ซึ่งถือว่าเกินอัตราที่ดอกเบี้ยสถาบันการเงินกำหนดไว้ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา
นายสรรเสริญกล่าวต่อว่า จนกระทั่งช่วงเดือน ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนติดตามจับกุมและสรุปสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาได้ 24 คน ซึ่งพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 โดยพนักงานสอบสวนได้อายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาไว้ เป็นที่ดินที่ จ.สระแก้ว และจ.ลพบุรี มูลค่าประเมินไร่ละ 3 ล้านบาท รวมมูลค่าทรัพย์สินที่เราอายัดไว้ 200 กว่าล้านบาท
“ทั้งนี้ ได้ขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและขอให้คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 50 วรรคสอง และได้แจ้งปลัดกระทรวงการคลังเพื่อให้สั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ให้กู้ยืมเงินที่เป็นผู้ต้องหาว่าได้กระทำความผิดตามมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และส่งเรื่องให้พนักงานอัยการฟ้องผู้กู้ยืมเงินเป็นบุคคลล้มละลายตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 8 และมาตรา 10” นายสรรเสริญกล่าว
วันเดียวกัน ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก เวลา 11.00 น. นายสรรเสริญ ธรรมโชติ พนักงานสอบสวนชำนาญการ สำนักงานคดีอาญาพิเศษ 1 และคณะนำสำนวนการสอบสวนพร้อมพยานหลักฐานเอกสารรวม 35 แฟ้มที่เห็นสมควรสั่งฟ้องนายมนตรี มาส่งมอบให้นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีสำนักงานคดีพิเศษพิจารณาสั่งคดี โดยนำลูกข่ายบริษัท ไนน์ท๊อปอัพ จำกัด ผู้ต้องหาคดีนี้มารายงานตัวต่ออัยการด้วย
นายสรรเสริญ ธรรมโชติ พนักงานสอบสวนชำนาญการ สำนักงานคดีอาญาพิเศษ 1 ในฐานะเลขานุการคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า มูลเหตุคดีนี้เริ่มต้นปี 2558 โดยมีผู้เสียหาย มาร้องเรียนการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่สืบสวนเรื่อยมากระทั่งพบการกระทำความผิด พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน จึงยื่นขอหมายจับต่อศาลอาญา โดยเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2559 จับกุมตัวผู้บริหารบริษัท 4 รายได้ และขยายผลจับกุมผู้กระทำผิดได้อีก โดยมีผู้ต้องหารวม 27 ราย กระทั่งเมื่อสรุปสำนวนแล้วมีความเห็นสมควรส่งฟ้องให้อัยการพิจารณาสั่งคดี 24 ราย ดีเอสไอสั่งไม่ฟ้อง 3 ราย โดยมีผู้ต้องหาที่้ผู้บริหารบริษัทหลบหนี 1 ราย ซึ่งได้ออกหมายจับไว้แล้ว ส่วนผู้ต้องหาที่เป็นกรรมการบริษัท 3 รายไม่ได้ประกันในชั้นฝากขังยังอยู่ในเรือนจำ วันนี้จึงมีผู้ต้องหามาพบพนักงานอัยการเพียง 20 ราย
ด้านนายวงศ์สกุล อธิบดีสำนักงานคดีพิเศษ กล่าวว่า หลังรับสำนวนแล้วอัยการนัดให้ผู้ต้องหามารายงานตัว เพื่อฟังความเห็นของอัยการว่าจะสั่งคดีได้หรือไม่ในวันที่ 21 ก.ย.นี้ ซึ่งจะตรงกับวันที่ครบกำหนดฝากขังผู้ต้องหา 3 ราย ส่วนจะมีการตั้งคณะทำงานอัยการเพื่อพิจารณาสำนวนนี้หรือไม่ต้องพิจารณารายละเอียดในสำนวนก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ต้องหาที่หลบหนี คือ นายสิทธิไกร ตลับนาค กก.ผจก.บริษัท ไนน์ท๊อปอัพฯ ขณะที่ผู้บริหารบริษัทที่ไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขัง และถูกควบคุมตัวในเรือนจำ 3 ราย ประกอบด้วย นายมนตรี มณีวงศ์ นายไตรทศ สื่อจินดาภรณ์ และนายธรรมรัตน์ มงคลบวรรัตน์ ตัวอยู่ในความควบคุมของศาลอาญาแล้วโดยฝากขังที่เรือนจำ ซึ่งจะครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 6 ในวันที่ 21 ก.ย.นี้