xs
xsm
sm
md
lg

สรุปหลักการตั้งกระดาน 3 บนแพลตฟอร์มใหม่รองรับ “สตาร์ทอัป” สิ้นปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการ “ตลท.” คาดสรุปหลักการตั้งกระดาน 3 บนแพลตฟอร์มใหม่รองรับ “สตาร์ทอัป” สิ้นปีนี้ย้ำไม่ใช่ลักษณะกระดานหุ้นย่อส่วน เผยตอนนี้มี 560 รายที่เข้ามาลงทะเบียนใน web portal ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เชื่อว่า มีอีกกว่า 1-2 พันรายที่ต้องตีความเรื่องสถานะ

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยผ่านสถานีโทรทัศน์วันนี้ (13 ต.ค.) โดยระบุว่า ตลท. อยู่ระหว่างร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ศึกษาการจัดตั้งกระดานซื้อขายหลักทรัพย์ที่ 3 ที่เป็นแพลตฟอร์มใหม่ เพื่อรองรับธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะสตาร์ทอัป คาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะมีข้อสรุปหลักการ และการกำกับดูแลที่จะมีรูปแบบเฉพาะตัว ไม่ใช่แบบเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) แต่จะเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับสินค้า และบริการ

“ตลาดฯ เตรียมตัวว่า จะเห็นกระดาน 3 แต่จริงๆ เป็นกระดานใหม่เพื่อสตาร์ทอัป ไม่ใช่เป็นกระดานย่อส่วน แต่จะเป็นอีกหนึ่งกระดานใหม่ และมีสตาร์ทอัปเป็นส่วนหนึ่งของกระดานใหม่ ตอนนี้เรามีหุ้นใหญ่ที่ SET รองรับไว้อยู่ และหุ้นขนาดรองลงมาก็มีตลาด mai แต่กระดานใหม่จะเป็นกลุ่มร่วมทุน กลุ่มสตาร์ทอัป ดังนั้น ไม่ใช่กระดานหุ้นย่อส่วน ถ้าจำกัดความแค่นี้ก็ไม่ได้รองรับสิ่งที่เราอยากจะเห็นสตาร์ทอัปมีที่ยืน” นางเกศรา กล่าว

นางเกศรา กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่า สตาร์ทอัปมีจำนวนทั้งหมดเท่าไหร่ อยู่ที่ไหน หรือสตาร์ทอัป คือ เอสเอ็มอี หรือเป็นฟินเทคกี่ราย ซึ่งขณะนี้มีสตาร์ทอัปเข้ามาลงทะเบียนใน web portal ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ราว 560 ราย แต่เชื่อว่า มีอีกกว่า 1-2 พันราย แต่สถานะจะเป็นบริษัทหรือไม่ หรือเป็นบุคคลธรรมดาก็ยังตีความไม่ได้

ทั้งนี้ นิยาม “สตาร์ทอัป” ของทุกคนไม่เหมือนกัน แต่ในแง่ของการพูดถึงแล้วเข้าใจไปในทางเดียวกัน คือ เป็นกิจการที่ร่วมลงทุนได้ หรือซื้อขายแลกเปลี่ยนมือกันได้ แต่หากต้องการให้คนเข้ามาลงทุนก็จะต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบบริษัท หรือกองทุน ซึ่งมีความไมเหมือนบริษัททั่วไป และไม่ใช่บริษัทมหาชน อาจจะเป็นแนวคิดการตั้งเป็นบริษัทธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วน หรือกองทุน หรือแม้กระทั่งกองทุน SE ขึ้นกับว่า จะนำเงินที่มีคนเข้ามาลงทุนไปทำอะไร เพราะสตาร์ทอัปเป็นการพูดถึงไอเดียดีๆ ที่จะกลายเป็นธุรกิจได้ แต่ก็ต้องพิจารณาว่า จะมีความเป็นไปไดในเชิงพาณิชย์หรือไม่

ประเด็นดังกล่าวเป็นที่มาของการระดมทุนสาธารณะ (คลาวด์ฟันดิ้ง) ที่เอื้อต่อการระดมทุนผลิตสินค้านวัตกรรมใหม่ผ่านเว็บไซต์ หรือมีกองทุนภาครัฐที่ลงทุนหลายที่ที่สามารถเข้าไปลงทุนได้ แต่จะต้องพิจารณาว่า มีช่องทางสำหรับการเปลี่ยนมือกัน และการออกจากการลงทุนนั้นๆ (EXIT) อย่างไร ดังนั้น แพลตฟอร์มที่ใหม่ คือ ที่ๆ แหล่งทุนกับสตาร์ทอัปมาเจอกัน และเปลี่ยนมือกันได้

กระดานนี้จะมี 2 เรื่องหลัก คือ 1.สินค้าใดมาอยู่บนนี้ได้บ้าง ทั้งสตาร์ทอัป หรืออะไรที่นอกเหนือจากนั้น ซึ่งมีความแปลกแตกต่างกับกระดานอื่น อาจไม่มีคำว่าจดทะเบียน และ 2.ใครที่จะเข้าไปลงทุนได้ ซึ่งจะต้องจำกัดเฉพาะผู้รู้เรื่อง และเข้าใจในการลงทุนเป็นอย่างดี เช่น นักลงทุนสถาบัน และอาจจะขยายไปว่าถ้าเป็นบุคคลธรรมดาที่ลงทุนแบบมืออาชีพ หรือบริษัทที่ตั้งไว้เพื่อการลงทุนต่างๆ ก็สามารถเข้ามาในแพลตฟอร์มใหม่นี้ได้

ส่วนนักลงทุนรายย่อยก็อาจสามารถเข้ามาในช่องทางผ่านกองทุน แต่ต้องพิจารณาก่อนว่า กองทุนที่จะเข้ามาลงทุนอาจเข้าใจว่า การลงทุนในกระดานนี้อาจติดลบ หากเลือกลงทุนผิด หรือกำไรไม่มาก ซึ่งหากมีกองทุนแบบนี้ก็จะต้องมีผู้ถือหน่วยที่เข้าใจธรรมชาติการลงทุน ไม่ใช่การเปิดทั่วไป คนที่ลงทุนต้องรู้ความเสี่ยงของการลงทุนเป็นอย่างดี

บริษัทที่อยู่ใน SET และ mai มีความเหมือนกัน คือ เป็นบริษัทมหาชนที่มีมาตรฐาน แต่บริษัทใน mai มีขนาดเล็กกว่า ประวัติสั้นกว่า แต่กฎเกณฑ์ มาตรฐานการกำกับดูแล และการเปิดเผยข้อมูลชัดเจน สามารถอยู่ในตลาดหุ้น และขายหุ้นประชาชนทั่วไปได้ แต่กระดาน 3 เป็นแพลตฟอร์มใหม่ ไม่อยู่ใน 2 กระดานแรก และยังไม่สามารถระบุตัวตนได้ว่าเป็นบริษัทมหาชน

“ทุกกิจการต้องมีจุดสตาร์ทอัป จากนั้น เป็นการเดินทางว่า มาถึง เอ็ม เอ ไอ ได้หรือไม่ บางคนตั้งบริษัทมาแล้วก็ขายทิ้ง ถ้าสตาร์ทอัปบางคนทำแล้วรัก ก็จะกลายเป็นเจ้าของกิจการ ก็จะเข้าสู่ loop ในการเป็นบริษัทมหาชน มีหลายทางแยกให้เดิน แต่บางคนไม่ชอบเป็นเจ้าของกิจการ ชอบคิดแล้วขายไปก็มีทางให้ exit ด้วย” นางเกศรา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น