xs
xsm
sm
md
lg

เร่งผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนแห่งภูมิภาค สอดรับ ศก.เอเชียที่จะกลับมาผงาดอีกครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองนายกฯ ศก. ลั่นผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนแห่งภูมิภาค พร้อมเดินหน้ายกระดับความสามารถแข่งขัน 3 ระดับที่สำคัญ มั่นใจเอเชียจะกลับมาเป็นศูนย์กลาง ศก.โลกแห่งอนาคต ขณะนี้ชาวโลกได้เชื่อมั่นแล้วว่า โอกาสของเอเชียกำลังจะมาถึง และกำลังจะผงาดได้จริง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาในงาน “Sino-Thai Business Investment Forum 2016” โดยระบุว่า เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย และยังไร้วี่แววแห่งการฟื้นตัว เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเอาแน่ไม่ได้ว่าจะฟื้นตัวเมื่อไร และจะฟื้นตัวอย่างไร และหากเราดูจากตัวเลขการเติบโตของสหรัฐฯ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ถดถอยลงมาอยู่ที่ระดับ 1% ในขณะนี้ ฉะนั้น ในระยะสั้น คงยากที่จะเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากประเทศนี้ หากไม่มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง

ในขณะเดียวกัน Brexit กำลังทำให้ความเชื่อมั่นต่อ EU สั่นคลอน ซ้ำเติมเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งอ่อนแอ และเปราะบางอยู่แล้ว ให้ด้อยลงในศักยภาพแห่งอนาคต ตะวันออกกลาง ยังคงประสบกับความวุ่นวายทางการเมือง เศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ และเผชิญกับอนาคตที่น่าเป็นห่วงจากราคาน้ำมันที่ยังไม่กระเตื้อง มองดูแล้วในอนาคตเศรษฐกิจโลกน่าจะสลดหดหู่ยิ่งนัก

“เราพูดกันมาตั้งแต่ก้าวสู่ศตวรรษใหม่แล้วว่า เป็นศตวรรษแห่ง Asia แต่ก็ยังไร้วี่แววที่ชัดเจน จะมีแต่จีนเท่านั้น ที่เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว และโดดเด่น แต่ในขณะนี้โลกได้เชื่อมั่นแล้วว่า โอกาสของเอเชียกำลังจะมาถึง เอเชียกำลังจะผงาด แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง แต่ก็ยังเต็มไปด้วยพลัง”

พร้อมระบุว่า ในภาวะที่โลกตะวันตกดูจะหมองหม่น กลับทำให้ตะวันออกสดใส และเป็นความหวังใหม่ที่จะฉุดโลกให้พลิกฟื้น กระทั่งมีการนำเสนอ แนวคิดเขตการค้าเสรี TPP โดยสหรัฐฯ ที่เชื่อมโยงกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก และการผลักดันแนวคิดเขตการค้าเสรี RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ในที่ประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 12 ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา ที่มุ่งมั่นเชื่อมโยงการค้าเสรีระหว่างชาติในอาเซียน กับอีก 6 ประเทศ ใหญ่ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่รวมกันแล้วครอบคลุมประชากรเกือบครึ่งของโลก และกว่า 30% ของผลผลิตโลกรวมกัน ก็ยิ่งทำให้เอเชีย อันประกอบไปด้วยชาติพันธุ์ที่เปี่ยมไปด้วยจุดแข็งอันหลากหลายกลับมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกแห่งอนาคต

“ภายใต้ศักยภาพอันยิ่งใหญ่ และภายใต้ความเชื่อมโยงอันหลากหลายของเอเชีย อนุภูมิภาคอาเซียน คือ องค์ประกอบอันสำคัญ เป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบที่สมบูรณ์ แหล่งแรงงานอันอุดม Supply Chain ที่ครบวงจรเศรษฐกิจ ทั้งอนุภูมิภาคเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทศวรรษที่ผ่านมา ด้วย GDP มวลรวมมูลค่าสูงถึง 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ยิ่งมองออกไปในอนาคต ศักยภาพแห่งอาเซียนนี้จะยิ่งเพิ่มทวี”

นายสมคิด กล่าวว่า ประเทศไทย โดยธรรมชาติของทำเลที่ตั้งแล้ว ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า คือ ศูนย์กลางแห่งอาเซียนที่แท้จริง แต่ประเทศไทยไม่ได้พอใจเพียงเช่นนั้น เรามุ่งมั่นที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนแห่งภูมิภาค สามารถเป็น Gateway หรือ ประตูเปิดเข้าสู่ภูมิภาค และเป็นประตูออกของการขนส่งสินค้าจากภูมิภาคสู่โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุภูมิภาค CLMV

ในทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยอาจจะโชคไม่ดีนักที่การเมืองในประเทศมีความผันผวน และซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญกับความถดถอยของเศรษฐกิจโลกอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาบริหารจัดการประเทศจนถึงขณะนี้ครบ 2 ปีแล้ว สถานการณ์ของประเทศได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ บ้านเมืองสงบ การเมืองมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจก้าวเดินไปข้างหน้า การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น การท่องเที่ยวเติบโตเป็นประวัติการณ์ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวเกือบสามสิบล้านคนในปีที่ผ่านมา จีดีพีของประเทศเติบโตโดยลำดับ สวนแนวโน้มโลกจาก 0.8% เมื่อ 2 ปีก่อน เป็น 2.8% ในปีที่แล้ว และเพิ่มเป็น 3.2% และ 3.5% ในสองไตรมาสแรกของปีนี้ และคาดการณ์ว่า ตลอดทั้งปีจะอยู่ในช่วง 3.2-3.5% ต่อปี

อย่างไรก็ดี รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเพื่อหวังผลในระยะยาวมากกว่าการเติบโตในระยะสั้น จึงให้ความสำคัญกับการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว และการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจที่เริ่มเผชิญความท้าทายจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

การแก้ไขความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีผลโดยตรงต่ออำนาจซื้อในประเทศ และการลดความขัดแย้งในสังคม ตลอดสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เริ่มปฏิรูปการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตร ขณะเดียวกัน ก็เร่งสร้างความเข้มแข็งกับเศรษฐกิจฐานรากในชนบท สองปีที่ผ่านมา รัฐบาลทุ่มงบประมาณนับแสนล้านเพื่อการนี้ ทั้งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การแปรรูปผลผลิต การสร้างโครงสร้างพื้นฐานในชนบท รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เข้าถึงแหล่งชนชนในท้องถิ่น

นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการยกระดับความสามารถแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การปฏิรูปโครงสร้างภาคการผลผลิตของประเทศด้านหนึ่ง โดยเน้นการสร้างมูลค่า และนวัตกรรมให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ยานยนต์ และชิ้นส่วน สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มาตรการส่งเสริมการลงทุนได้ปรับเปลี่ยนให้สิทธิภาษีจูงใจสูงขึ้น กับการลงทุนที่เน้นการใช้เทคโนโลยี การวิจัยพัฒนา ในอีกด้านหนึ่งมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตที่ประเทศไทยมีศักยภาพ

2.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ทั้งถนน motorway รถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมโยงเหนือสู่ใต้ และตะวันออกสู่ตะวันตก สนามบิน ท่าเรือ มูลค่ารวมการลงทุนใน 5 ปี ข้างหน้ากว่า 43 พันล้านเหรียญสหรัฐ โครงการต่างๆ เหล่านี้ทยอยผ่าน ครม. ทยอยเรียกประกวดราคาตั้งแต่ไตรมาสนี้ และปีหน้า โดยปีหน้าจะเป็นปีแห่งการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ซึ่งหลายโครงการจะใช้ระบบ PPP เปิดโอกาสให้ทั้งภาคเอกชนไทย และต่างประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วม ผมขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนท่านทั้งหลายมาร่วมกับเรา 3.โครงการลงทุนในส่วนที่สาม ซึ่งผมคิดว่าสำคัญที่สุด ได้แก่ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor หรือ EEC

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่ประเทศไทยสามารถมีระดับพัฒนาอุตสาหกรรมมาถึงขั้นนี้ และเป็นจุดลงทุนที่สำคัญ เพราะการลงทุนใน Eastern Seaboard โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง และมาบตาพุด จนกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด และเป็น Port ส่งออกสู่โลกของไทย โครงการ EEC คือโครงการต่อยอด ยกระดับ และขยายเขตการลงทุนครอบคลุมถึง 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยการมีกฎหมายรองรับ และมีคณะกรรมการกำกับดูแล โดยเฉพาะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้เป็นแหล่งลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต โดยมีการตระเตรียมพื้นที่สำหรับนักลงทุนจากภาคเอกชน และรัฐ

พร้อมๆ กันนั้น ได้ขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ทั้งการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสร้างสนามบินพาณิชย์ใหม่ สนามบินอู่ตะเภาเดิม โครงการขยายท่าเรือแหลมฉบัง และมาบตาพุด ให้เป็น Transshipment Port สำหรับการขนส่งเข้า และออกของอนุภูมิภาค CLMV โครงการพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ด ที่อู่ตะเภา ให้เป็นท่าเรือพาณิชย์ในอนาคต พร้อมกันนั้น จัดให้มีโครงการลงทุนเชื่อมโยงกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-อู่ตะเภา ด้วยการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และเส้นทางถนนเชื่อมโยงพื้นที่ดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นทั้งแหล่งที่ตั้งโรงงานผลิต ศูนย์กลางการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และการพัฒนาการท่องเที่ยงเชิงนิเวศน์ในบริเวณสามจังหวัดดังกล่าว โครงการเหล่านี้จะทยอยเริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

“การขับเคลื่อนโครงการลงทุนเหล่านี้ BOI ได้กำหนดมาตรการจูงใจสำหรับนักลงทุนเป็นการเฉพาะ กระทรวงการคลังอยู่ในระหว่างการจัดตั้งกองทุน Infrastructure Fund เพื่อร่วมลงทุนกับภาคเอกชน กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการมอบหมายให้เร่งพัฒนาบุคคลากรในทักษะที่เหมาะสม เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต พร้อมกันนั้น รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการขจัดอุปสรรคของนักลงทุน โดยร่วมมือกับ World Bank ในโครงการ Ease of Doing Business เพื่อลดขั้นตอน ขจัดอุปสรรค เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น เพื่ออำนวยความสะดวกกับนักลงทุนอย่างเต็มที่ ซึ่งตัวผมเข้าไปขับเคลื่อนด้วยตัวเอง”

รองนายกฯ ยังระบุด้วยว่า ในอนาคตมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน แผ่ขยายครอบคลุมสู่ด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง และแน่นแฟ้นกว่าทุกยุคทุกสมัย โดยในการประชุมร่วมของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะมีขึ้นปลายปีนี้ สาระสำคัญจะอยู่ที่ข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรทั้งในเชิงของรัฐ และเอกชนในการพัฒนา Cluster อุตสาหกรรมเป้าหมาย พันธมิตรในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับเส้นทาง One Belt One Road ของจีน และพันธมิตรในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

“ผมขอเชิญชวนทุกท่านเข้ามามีส่วนร่วมเข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับเรา และผมในฐานะรองนายกเศรษฐกิจ จะช่วยดูแลท่านทั้งหลายให้ได้รับความสะดวก และความเป็นธรรมในทุกๆ มิติ” นายสมคิด กล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น