เชียงราย - จับตาการค้าผ่านสามเหลี่ยมทองคำถึงจุดเปลี่ยน หลังจีนเทงบกว่า 2 พันล้านหยวนพัฒนาท่าเรือกวนเหล่ย เสร็จสิ้นมกราฯ 60-เดินหน้าตามแผน One Belt One Road ตีกรอบให้ขนสินค้าแช่แข็ง-ผัก ผลไม้ เข้า-ออก 3 มณฑล ทั้งยูนนาน-เสฉวน-กุ้ยโจว ผ่านน้ำโขงเท่านั้น
นายกฤษณะ ชาสมบัติ ผอ.ฝ่ายการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา นางเกศสุดา สังขกร รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย, นายชาติชาย สุจินพรหม ผอ.สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน, นายณัฐพล รัชตะศิลปิน หัวหน้าแผนกการท่า และสินค้าท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ฯลฯ ได้เดินทางด้วยเรือกาสะลองคำ 2 ในแม่น้ำโขงจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปยังเมืองเชียงรุ้ง หรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
เพื่อสำรวจเส้นทางเชื่อมโยง และประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องด้านการพาณิชย์และอุตสาหกรรม เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ภาคเอกชนจากหอการค้าสิบสองปันนา และสมาคมผู้นำเข้าและส่งออกสิบสองปันนา เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างไทย-จีนตอนใต้ ผ่านทางเรือแม่น้ำโขงและถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-ไทย
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจีนที่เข้าร่วมประชุมแจ้งว่า ขณะนี้กำลังพัฒนาท่าเรือกวนเหล่ย มณฑลยูนนาน เมืองท่าหน้าด่านของจีน ห่างจาก อ.เชียงแสน ประมาณ 263 กิโลเมตร เพื่อรองรับตู้คอนเทนเนอร์ และห้องเย็น หรืออาหารแช่แข็ง ซึ่งผู้เดินทางไปจีนตอนใต้สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ว่ามีการถมดิน ก่อสร้างอาคาร และเตรียมนำเครื่องจักรไปติดตั้ง
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจีนแจ้งอีกว่า ปัจจุบันรัฐบาลกลางของจีนมีนโยบายพัฒนาเส้นทางเบ็ดเสร็จทางเดียว หรือ One Belt One Road เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันตก กำหนดให้การขนส่งสินค้าประเภทแช่แข็ง ห้องเย็น ตู้คอนเทนเนอร์ ต้องใช้เส้นทางในแม่โขงเท่านั้น โดยรัฐบาลจีนได้ลงทุนสร้างตามโครงการนี้ ณ ท่าเรือกวนเหล่ย กว่า 2,000 ล้านหยวน
เพื่อให้มีศักยภาพรองรับอาหารแช่แข็ง ตู้คอนเทนเนอร์ เครนยกตู้ ห้องตรวจ หรือแล็บตรวจสินค้า ห้องเย็นสำหรับสินค้านำเข้า และส่งออก สถานที่สำหรับสินค้าผักสด-ผลไม้ ฯลฯ โดยกำหนดให้เป็นช่องทางรองรับสินค้าจากเขตเศรษฐกิจ 3 มณฑล คือ มณฑลยูนนาน มณฑลเสฉวน และมณฑลกุ้ยโจว ไปพร้อมกัน
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจีนระบุอีกว่า โครงการนี้กำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 31 ม.ค. 2560 โดยมีกรมเจ้าท่าสิบสองปันนา-กวนเหล่ย การท่าเรือสิบสองปันนา-กวนเหล่ย ศุลกากรสิบสองปันนา เมืองหล้า-กวนเหล่ย ด่านตรวจพืช รับผิดชอบ เมื่อแล้วเสร็จจะมีบริการครบทั้ง CIQ (ผู้โดยสารขาออกที่ผ่านพิธีการศุลกากร : Custom) การตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) ด่านตรวจกักกันพืชและสัตว์ (Quarantine)
น.ส.ผกายมาศกล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งสินค้าในแม่น้ำโขงของจีนถือเป็นเรื่องใหญ่ของภูมิภาคนี้เลยทีเดียว เพราะเป็นคู่ค้าที่สำคัญในสินค้าทุกประเภท ขณะที่ 3 มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ต้องใช้การนำเข้าและส่งออกสินค้าเฉพาะท่าเรือกวนเหล่ยแห่งเดียวเท่านั้น โดยอ้างว่าการขนส่งทางบกด้านอื่นทั้งบนถนนอาร์สามเอ เชื่อมไทย-สปป.ลาว-จีน หรือแม้แต่ที่ติดกับประเทศเวียดนาม ยังไม่ได้มาตรฐเพียงพอ จึงจะใช้เพื่อการขนส่งสินค้าประเภทอื่นหรือเพื่อการท่องเที่ยวแทน
“ในอนาคตการขนส่งสินค้าประเภทแช่แข็งทุกชนิดโดยเฉพาะเนื้อแช่แข็ง ไก่แช่แข็ง ผัก ผลไม้ ฯลฯ ต้องใช้แม่น้ำโขงทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะขนส่งค้าขายกับจีนไม่ได้เลย”
รองประธานหอการค้า จ.เชียงรายกล่าวอีกว่า สิ่งที่ประเทศไทย และจังหวัดเชียงราย จะได้รับคือ ภาคการขนส่งทางเรือแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสนจะคึกคักมากขึ้น ทำให้ท่าเรือต้องเตรียมการรองรับโดยด่วน ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าระบบยกตู้คอนเทนเนอร์ของเรา ยังต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม ท่าเรือของรัฐอาจไม่เพียงพอ จึงต้องอาศัยท่าเรือเอกชนเพิ่มขึ้น
ส่วนการส่งออกเนื้อ ไก่แช่แข็ง ผัก ผลไม้ ฯลฯ จะมีได้มากขึ้น เพราะปกติส่งออกมากอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้จีนให้การยอมรับหลังจากก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องการส่งออกผ่านจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้ หอการค้า จ.เชียงราย กำลังติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะเหลือเวลาอีกเพียง 2-3 เดือนมาตรการดังกล่าวของจีนก็จะบังคับใช้แล้ว