xs
xsm
sm
md
lg

มีนาคมนี้เริ่ม! จี้ไทยเร่งปรับ รับจีนเปิด “กวนเหล่ย” ขนสินค้าแช่แข็งผ่านน้ำโขง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เตือนไทยปรับระบบการขนส่งผ่านน้ำโขงรองรับด่วน สป.จีน เร่งพัฒนาท่าเรือกวนเหล่ย และถนนเป็นช่องทางพิเศษขนสินค้าแช่แข็งเข้า-ออกมณฑลจีนตอนใต้ ปีละ 1.5 แสนตัน คาดเริ่มใช้งานทั้งระบบมีนาคม 60 นี้

รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ จ.เชียงราย (กรอ.เชียงราย) ครั้งล่าสุดปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานฯ นั้น ได้มีการพูดคุยหารือกันถึงแนวทางการพัฒนารองรับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมของ สป.จีน ภายใต้นโยบาย One Belt One Road ด้วย

น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวในที่ประชุมว่า ภายใต้นโยบาย One Belt One Road เพื่อมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจจีนตอนใต้ เช่น ยูนนาน เสฉวน กุ้ยโจว ล่าสุด จีนกำลังเร่งพัฒนาท่าเรือเมืองกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนตอนใต้ ติดกับ สปป.ลาว ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำโขงกับประเทศพม่า และกำหนดให้ท่าเรือแห่งนี้เป็นช่องทางพิเศษช่องทางเดียวที่จะใช้เพื่อการขนส่งสินค้าประเภทแช่แข็ง อาหารทะเล ผักสด และผลไม้ทุกชนิด ด้วยการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ที่ควบคุมอุณหภูมิเท่านั้น

โดย สป.จีน กำลังเร่งสร้างห้องเย็นขนาดใหญ่ ด้วยงบประมาณกว่า 63.5 ล้านหยวน หรือประมาณ 350 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ภายในเป็นอาคารห้องเย็นอุณหภูมิต่ำกว่า -18 องศาเซลเซียส สามารถรองรับอาหารแช่แข็งได้มากถึง 3,800 ตัน สามารถหมุนเวียนอาหารแช่แข็งได้ปีละประมาณ 150,000 ตัน รวมทั้งมีการพัฒนาเรือสินค้าให้สอดรับต่อการขนส่งระบบตู้

นอจากนี้ ยังมีเครื่องจักรอุปกรณ์ เช่น เครนสูงขนาดใหญ่สำหรับเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ที่ควบคุมอุณหภูมิขนาดยาว 40 ฟุต ลานพักตู้คอนเทนเนอร์ และเครื่องมือต่างๆ สำหรับขนถ่ายตู้สินค้าไปยังท่าเรือ และรถบรรทุก ห้องตรวจสินค้านำเข้า-ส่งออก ขณะเดียวกัน จีนยังสร้างถนน และสะพานจากจุดต่างๆ ในมณฑลยูนนาน ไปยังท่าเรือกวนเหล่ยด้วย โดยมีกำหนดสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 31 ม.ค.นี้

“แนวทางพัฒนาของจีนดังกล่าวคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ราวต้นเดือนมีนาคม 2560 นี้ จะส่งผลต่อการขนส่งสินค้าในแม่น้ำโขง ที่เป็นช่องทางขนส่งสินค้าจากไทยผ่านท่าเรือเชียงแสนเข้าจีนแน่นอน”

น.ส.ผกายมาศ ยังกล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ ทางการจีนยังได้แจ้งขอให้ฝ่ายไทยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ โดยเฉพาะที่ท่าเรือแม่น้ำโขง เชียงแสนแห่งที่ 2 และท่าเรือเอกชนต่างๆ เพื่อรองรับการขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าว

โดยให้มีลานพัก และสามารถขนถ่ายขึ้นลงเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งขอให้เร่งรัดอนุมัติใบอนุญาตส่งออกเนื้อสัตว์ อาหารแช่แข็งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และลงนามด้านพิธีการสารระหว่างไทย-จีน เกี่ยวกับการตรวจพืช ผักสด ผลไม้ในเส้นทางแม่น้ำโขงเช่นเดียวกับที่ใช้ในการขนส่งผ่านถนน R3a ไทย-สปป.ลาว-จีน ผ่าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย

นอกจากนี้ ยังขอให้มีการจัดตั้งสโมสร หรือศูนย์ประสานงานเพื่อบริการข้อมูลข่าวสารให้ลูกเรือ 4 ชาติในแม่น้ำโขง จัดสถานที่พักผ่อน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และจัดศูนย์บริการเติมนำมันเชื้อเพลิงบริเวณชายฝั่งแม่น้ำที่ อ.เชียงแสน ในราคาเทียบเท่ากับสถานีน้ำมันลอยน้ำที่มีอยู่ในแม่น้ำโขงด้วย

น.ส.ผกายมาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังมีการนำเสนอข้อมูลดังกล่าว ทางผู้ว่าฯเชียงราย ได้สั่งให้การหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษา และพิจารณาแก้ไขระบบที่ยังไม่เอื้อต่อการขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์อย่างเร่งด่วน รวมทั้งเตรียมจัดประชุมหน่วยงานที่รับผิดชอบ และหากมีความจำเป็นก็จะมีการเชิญหน่วยส่วนกลางมาร่วมประชุมด้วย

เพราะเป็นเรื่องที่ต้องรีบดำเนินการ เนื่องจากโครงการดังกล่าวของจีนจะเริ่มเปิดใช้ในต้นปี 2560 นี้แล้ว ขณะที่สินค้าไทยก็ส่งออกไปยังจีนตอนใต้ด้วยเส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผลไม้ อาหารแช่แข็ง

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นนี้ ทางท่าเรือเชียงแสน ได้แจ้งต่อที่ประชุมด้วยว่า ปัจจุบันท่าเรือก็มีความพร้อมเช่นกัน และหากมีความจำเป็นเร่งด่วนด้วยปริมาณสินค้ามากก็สามารถนำเครนจากนอกท่าเรือเข้าไปใช้เป็นการชั่วคราวได้เช่นกัน

โดยท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน มีโครงสร้างภายในเป็นท่าเทียบเรือแบบทางลาด 2 ระดับ สามารถรับเรือขนาดยาว 50 เมตร ได้พร้อมกัน 6 ลำ ท่าเทียบเรือแนวดิ่งความยาวท่าเทียบเรือ 200 เมตร สามารถรับเรือขนาดความยาว 50 เมตร ได้พร้อมกัน 4 ลำ พื้นที่ยังสามารถใช้จอดเรือได้หลายลำ มีโรงพักสินค้า ขนาด 30 คูณ 30 เมตร จำนวน 2 หลัง ลานวางพักสินค้า ปั้นจั่นเคลื่อนที่ขนาด 10 ตัน รถยกขนาด 10 ตัน และรถยกขนาด 3.5 ตัน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 1 ในเขต ต.เวียงเชียงแสน และท่าเรือเอกชนอีกหลายแห่งด้วย

สำหรับการค้าชายแดนด้าน จ.เชียงราย ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย.2559 มีมูลค่าการค้ารวม 40,400.15 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออก 34,080.04 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 6,320.11 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค ข้าวสาร ปศุสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น และสินค้าอื่นๆ เป็นต้น สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ พืชผักสด ผลไม้ (ส้ม องุ่น) ไม้แปรรูป ใบชาสินค้าเกษตร และสินค้าอื่นๆ เป็นต้น

ส่วนการค้าผ่านท่าเรือ อ.เชียงแสน พบว่า มีมูลค่ากว่า 15,229.51 ล้านบาท แยกเป็นการค้ากับจีน 2,836.08 ล้านบาท สปป.ลาว า 9,583.35 ล้านบาท และพม่า 2,810.07 ล้านบาท ปัจจุบัน มีการใช้เรือสินค้าส่วนใหญ่เป็นสัญชาติ สปป.ลาว ขนาด 100-150 ตัน และเรือสินค้าจีน-พม่า ขนาด 200-300 ตัน ซึ่งมีการพัฒนารูปแบบการขนส่งผ่านเรือในแม่น้ำโขงอย่างเห็นได้ชัดมากขึ้นเรื่อยๆ








กำลังโหลดความคิดเห็น