ไชน่าเดลี่ - การท่องเที่ยวในต่างแดนของชาวเมืองมังกรบูมตั้งแต่เมื่อใด เรื่องนี้มีรายละเอียดน่าสนใจทีเดียว
ปรากฏการณ์คลื่นนักท่องเที่ยวจีนทะลักจากแผ่นดินใหญ่ นอกจากส่งผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว ยังทำให้ธุรกิจการบินคึกคักตามไปด้วย โดยสายการบินของจีนและต่างชาติ มีการขยายเส้นทางและเที่ยวบิน แข่งกันให้บริการนักท่องเที่ยวชาวจีน
จากข้อมูลของ OAG ซึ่งรวบรวมข้อมูลการเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสาร ระบุว่า จำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ ที่บินขึ้นจากสนามบินในจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในเดือนพ.ย. 2558 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยจำนวนเที่ยวบินไปเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นนำหน้าชาติอื่น มีเวียดนามเป็นตลาดโตเร็วที่สุด นอกจากนั้น มีการเปิดให้บริการเที่ยวบินเข้า-ออกประเทศ เช่น อัฟกานิสถาน เบลารุส สาธารณรัฐเช็ก และฟิจิ ส่วนจำนวนเที่ยวบินไปประเทศอย่างอิรัก อิหร่าน ปากีสถาน และเติร์กเมนิสถาน เพิ่มกว่าร้อยละ 20 ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2558
การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลจีน ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 19 ปีก่อน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวจีนแห่เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ จากการเปิดเผยของเจียง อี้ว์อี้ว์ ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ( International Tourism Development Instiute) โดยสำนักงานบริหารการท่องเที่ยวแห่งชาติจีน (China National Tourism Administration) และกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร มีการลงนามข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับมาตรการในการบริหารควบคุมการเดินทางไปต่างประเทศของพลเมืองเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2540
การปฏิรูปดังกล่าวบวกกับนโยบายเปิดประเทศของจีนในปี 2521 ส่งผลให้มีการอนุมัติหนังสือเดินทางประเภทบุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่พลเมืองจีนจะเดินทางไปต่างประเทศได้ต้องมีเหตุผลอย่างเป็นทางการเท่านั้น โดยผู้ถือหนังสือเดินทางประเภทบุคคลธรรมดาเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องในอีก 2 ทศวรรษต่อมา เนื่องจากมีการเดินทางไปเมืองนอก เพื่อเยี่ยมญาติมิตรกันมากขึ้น หรือการไปศึกษาต่อ
กระทั่งปัจจุบัน ทางการได้ลดขั้นตอนการขอหนังสือเดินทางและเอกสารรับรองอื่น ๆ และพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ถือหนังสือเดินทางประเภทบุคคลธรรมดา ไปต่างประเทศ เพื่อไปเที่ยว
ชนชั้นกลางระดับสูงและครอบครัวคนร่ำรวย ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นเหตุผลประการที่ 2 โดยตามรายงานของบอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป (บีซีจี) และอาลีรีเสิร์ช ( AliResearch) หมายถึงผู้มีรายได้ ที่ใช้จ่ายได้จริง ( disposable incme) ไม่ต่ำกว่า 12,500 หยวน (ราว 6,2500) ต่อเดือน คนกลุ่มนี้ขยายตัวจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 17 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และจะโตถึงร้อยละ 30 หรือ 100 ล้านครัวเรือนภายในปี 2563
กระแสชาวจีนนิยมเที่ยวต่างแดนในเวลานี้ไม่ต่างกับสมัยที่ชาวญี่ปุ่นเริ่มไปท่องโลกเมื่อ 30 ปีก่อน โดยตั้งแต่ราวปี 2523-2543 ชาวแดนซากุระไปเที่ยวเมืองนอกเพิ่มจาก 4 ล้านคน เป็น 16 ล้านคน โดยในช่วงนั้นญี่ปุ่นมีจีดีพีต่อหัวประชากรเพิ่มจาก 10,000 ดอลลาร์ เป็น 35,000 ดอลลาร์
เหตุผลประการที่ 3 ก็คือขณะนี้มีประมาณ 50 ชาติและภูมิภาค ที่อนุญาตนักท่องเที่ยวจากจีนไม่ต้องใช้วีซ่า หรือผ่อนคลายกฎระเบียบในการเข้าประเทศ โดยสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้ขยายอายุวีซ่าการเข้าออกประเทศได้หลายครั้งสำหรับชาวจีนในปี 2558 ส่วนชาติอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักรคาดว่า จะทำตามในปี 2559
ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นเหตุผลประการ ที่ 4 โดยแม้แต่โทรศัพท์มือถือราคาถูกก็สามารถทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลเรียลไทม์ในเกือบทุกด้านของการท่องเที่ยว เช่น จองตั๋วเครื่องบินและโรงแรมได้ทันที การดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นรายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว หรือแผนที่ ซึ่งเป็นภาษาจีนทั้งหมด สามารถใช้ “กระเป๋าเงินดิจิตอล” ซื้อสินค้าที่ระลึก ความสะดวกสบายเหล่านี้จึงทำให้ชาวจีนนิยมเดินทางแบบอิสระ มากกว่ากรุ๊ปทัวร์กันมากขึ้น
ไชนิส อินเตอร์เนชั่นแนล แทรเวิล มอนิเตอร์ ซึ่งรวบรวมข้อมูลจาก hotel.com บริษัทตัวแทนจองล่วงหน้าออนไลน์ ระบุว่า มีนักท่องเที่ยวจีนอย่างน้อยร้อยละ 50 วางแผนท่องเที่ยวจากแอปพลิเคชั่นสมาร์ตโฟน ในปี 2558 เพิ่มร้อยละ 17 จากปีก่อนหน้า
อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเป็นเหตุผลประการที่ 5 โดยจากการวิเคราะห์ของหลายสถาบันการเงินระบุว่า เงินหยวนน่าจะยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าในปีนี้ แต่ไม่น่าจะอ่อนค่ามากจนเกินไป หรือจนถึงขั้นทำให้แรงขับเคลื่อนการท่องเที่ยวต่างแดนของชาวจีนหยุดชะงัก
นอกจากนั้น ยังมีเหตุผลประการที่ 6 ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อก็คือชาวจีนเดินทางไปเที่ยวเมืองนอก เพื่อหนีภาวะมลพิษในอากาศในประเทศ
เจ้า หลันหลัน เปิดเผยว่า เธอไปอเมริกา 2 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว
“ ดิฉันไปอยู่แถบชายฝั่งตะวันออกนาน 1 เดือนครึ่ง แล้วอยู่ที่รัฐเท็กซัสอีกเดือน” สตรีชาวกรุงปักกิ่ง วัย 58 ปี เล่า
“ ทนหมอกควันไม่ไหวค่ะ ยิ่งหน้าหนาวยิ่งแย่ใหญ่ หลบอยู่แต่ในบ้านก็เอาไม่อยู่”
มีการคาดการณ์ว่า ชาวจีนจะไปเที่ยวต่างประเทศมากกว่า 130 ล้านคนในปี 2559 เพิ่มร้อยละ 10 จากปี2558
ในอนาคตนักท่องเที่ยวจีนน่าจะแห่ไปเที่ยวประเทศบนเส้นทาง หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของจีน รวมทั้งไปยังประเทศที่มีความสะดวกสบายเรื่องวีซ่า
รัฐบาลปักกิ่งประกาศชัดเจนมาตั้งแต่กลางปี 2557 ว่า ต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวบนเส้นทางดังกล่าว ซึ่งเชื่อระหว่างทวีปเอเชียกับภูมิภาคตะวันออกกลาง ทวีปแอฟริกา และยุโรป โดยมีการทำงานร่วมกับชาติเหล่านั้นเพื่อให้ความฝันกลายเป็นความจริง
ในทัศนะของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำแดนมังกรนั้น การท่องเที่ยวคือเครื่องวัดมาตรฐานการครองชีพ ที่สำคัญ และการท่องเที่ยต่างแดนมีมนต์ขลังสำหรับชาวจีนเป็นพิเศษ