“คลัง” อัปแผนเบิกจ่ายเงินไตรมาสสุดท้ายปี 59 และไตรมาสแรกปีงบ 60 แจงตุนเงินคงคลัง 3 แสนล้านบาท เพื่อรองรับภาครัฐใช้จ่ายกระตุ้น ศก. ผลักดันจีดีพีสิ้นปีโตตามเป้า 3.3% และลดภาระการแบก ดบ. พร้อมจี้ “สรรพากร” ตรวจสอบธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ สั่งต้อนเข้าระบบภาษีให้ถูกต้อง ย้ำหากเกิน 1.8 ล้านบาท ต้องจ่ายหมด เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม โดนหมด
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.ได้ประชุมร่วมกับกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเตรียมแผนการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยกรมบัญชีกลาง เป็นห่วงว่า ระดับเงินคงคลังที่มีอยู่สิ้นเดือน ก.ย.2559 สูงกว่า 3 แสนล้านบาท จะมีจำนวนมากไป ทำให้เป็นภาระดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม สบน.ได้ยืนยันว่า จำเป็นต้องกู้เงินในช่วงปิดปีงบประมาณ 2559 ใส่เตรียมไว้ในเงินคงคลังจำนวนมาก เพราะรัฐบาลมีแผนการเร่งเบิกจ่ายงบดำเนินการ และงบลงทุน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 หรือไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 เพื่อให้เศรษฐกิจโตได้ตามเป้าหมาย 3.3% หรือว่ามากกว่านั้น
นอกจากนี้ โดยปกติในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ การเก็บรายได้ของประเทศยังเข้ามาไม่มาก เพราะยังไม่ถึงช่วงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคล ทำให้ สบน.ต้องเตรียมเงินกู้ใส่ไว้ในเงินคงคลังให้เพียงพอตามความต้องการ
“ถึงแม้ว่าเงินคงคลังจะสูงกว่า 3 แสนล้านบาท ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2559 สบน.ยังมีแผนการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 2-3 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการเร่งการเบิกจ่ายของรัฐบาล โดยจะเป็นการกู้เงินระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ที่เหลือ 2-2.5 แสนล้านบาท จะเป็นการออกพันธบัตรอายุต่างๆ เช่น 3 ปี 5 ปี 10 ปี 15 ปี เป็นต้น ซึ่ง ธปท. ก็เห็นว่าเหมาะสม ไม่กระทบกับสภาพคล่องของตลาดที่มีอยู่จำนวนมาก”
สำหรับพันธบัตรออมทรัพย์ที่กระทรวงการคลังเตรียมดำเนินการ เนื่องจากจะมีพันธบัตรหลายรุ่นครบอายุหลายหมื่นล้านบาท โดยจะมีอายุ 3 ปี และ 5 ปี โดยแบ่งจำหน่าย 2 ช่วง เป็นช่วงละ 4 เดือน วงเงินช่วงละ 1.5 หมื่นล้านบาท รวมเป็นพันธบัตรที่จะออกทั้งหมด 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเปิดจำหน่ายพันธบัตรในช่วงเดือน ธ.ค. 2559 เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับนักลงทุน โดยจะขายให้กับนักลงทุนรายย่อย ซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท ชำระดอกเบี้ยปีละ 2 งวด โดยจำหน่ายผ่านเคาน์เตอร์ทุกสาขา และเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM ตลอด 24 ชั่วโมง) ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรออมทรัพย์นี้จะต้องหารือ และเสนอให้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เห็นชอบก่อน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยยังสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้จากการฝากเงินอยู่ค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตาม การออกพันธบัตรออมทรัพย์ครั้งนี้เป็นไปตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2560 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยพันธบัตรออมทรัพย์เป็นแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) ทั้งนี้ ผู้ถือกรรมสิทธิ์สามารถขอถอนพันธบัตรจากระบบ Scripless เพื่อออกเป็นใบพันธบัตร (Script) ได้ภายหลัง
ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า สำหรับการเร่งเบิกจ่ายของรัฐบาล มีทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี 2559 ให้เบิกจ่ายภายในสิ้นปีนี้เท่านั้น และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ 2560 ในส่วนของงบดำเนินการ และงบลงทุนที่ไม่เกิน 2 ล้านบาท ต้องทำการเบิกจ่ายให้ได้ภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน ขณะที่การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนที่มากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้ทำสัญญาก่อหนี้ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ และเบิกจ่ายตามงวด และโครงการลงทุนที่มากกว่า 1,000 ล้านบาท ให้ทำสัญญาก่อหนี้ให้ได้ไตรมาสสองของปีงบประมาณ 2560 และให้เร่งเบิกจ่ายตามงวดงาน
รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า ในไตรมาส 4 จะกระตุ้นเบิกจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โดยการสนับสนุนเงินให้แก่กองทุนหมู่บ้าน และชุมชน ไม่เกิน 5 แสนบาท วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งล่าสุด เบิกจ่ายได้แล้ว 1.9 หมื่นล้านบาท และโครงการลงทุนภาครัฐจากมาตรการเร่งรัด และงบกลาง ทั้งโครงการลงทุนขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ โดยทั้งหมดจะต้องดำเนินการให้เสร็จ และเบิกจ่ายภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้ไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่อง และจะมีผลต่อการปรับประมาณการจีดีพีทั้งปี 59 ใหม่ของ สศค.ในเดือน ต.ค.นี้ จากประมาณการปัจจุบัน สศค.คาดเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.3% ต่อปี
“การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย คาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ จากการพบสัญญาณในไตรมาสที่ 3 ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ สศค.นำปัจจัยต่างๆ ไปปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีใหม่ในรอบถัดไปเดือน ต.ค.2559 นี้ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าในกลุ่ม CLMV อย่างเวียดนาม ที่ยังคงขยายตัวได้ดี จากภาคบริการ และภาคการผลิต ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศเวียดนาม และจะเป็นแรงสนับสนุนหลักให้กับเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ให้สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง”
ด้านรายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ได้สั่งการให้กรมสรรพากรเร่งตรวจสอบธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ว่ามีการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบัน การทำธุรกิจบนโซเชียลเน็ตเวิร์กมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว ซึ่งมีทั้งเจ้าของผลิตภัณฑ์เอง และตัวแทนขายที่คิดกำไรเป็นทอดๆ สร้างรายได้จำนวนมาก เพราะการขายของผ่านช่องทางดังกล่าวสามารถทำได้สะดวกขึ้นตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่จากการตรวจสอบข้อมูลที่ผ่านมา ยังไม่มีการยื่นเสียภาษีให้ถูกต้อง ทำให้กระทรวงการคลัง มอบหมายให้กรมสรรพากร เข้าไปตรวจสอบ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้
สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิต หรือเป็นผู้ขายสินค้า หรือให้บริการ ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล หากมีรายรับจากการขายสินค้า หรือให้บริการ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ต้องการสร้างความเป็นธรรม โปร่งใส และความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริต และขอย้ำว่า ผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจดังกล่าวหากมีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนแวตแล้ว เมื่อมีรายได้ต้องยื่นแจ้งรายได้เสียภาษีบุคคลธรรมดาประจำปีภาษี โดยต้องนำรายได้จากการดำเนินธุรกิจดังกล่าวเข้ามารวมกับรายได้ที่ได้ประจำเพื่อยื่นเสียภาษีด้วย แต่ปัจจุบันยังพบว่า มีบางส่วนที่ไม่นำรายได้ดังกล่าวเข้ามารวมไว้ ส่งผลให้การยื่นเสียภาษีบุคคลธรรมดาไม่ตรงกับความเป็นจริง