วันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เคยสร้างความตกตะลึงแก่บรรดานักลงทุน โดยประกาศนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ หรือ Negative Interest Rate Policy : NIRP โดยสถาบันการเงินจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับเงินทุนบางส่วนที่ฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นในรูปของทุนสำรอง เป้าหมายสำคัญของอัตราดอกเบี้ยติดลบคือ การช่วยดึงให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด โดยหวังให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการให้กู้เงินแก่ธุรกิจ และบุคคล แต่ผู้เชี่ยวชาญมากมายกล่าวว่า นโยบายนี้มีส่วนช่วยเพียงเล็กน้อยในการเพิ่มการบริโภค และการลงทุน
ในการประชุมครั้งล่าสุด (28-29 ก.ค.) ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 28 ล้านล้านเยน (2.74 แสนล้านดอลลาร์) แต่ได้สร้างความผิดหวังแก่นักลงทุนในตลาด ถึงแม้มาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่นักลงทุนก็ไม่รู้สึกประทับใจแต่อย่างใด เนื่องจากตลาดคาดหวังมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่านี้ เช่น การใช้นโยบาย Helicopter Money ส่งผลให้หลังการประกาศมาตรการดังกล่าวสกุลเงินเยนกลับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งปฏิกิริยาของตลาดถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่านักลงทุนไม่เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้
แนวโน้มการดำเนินนโยบายทางการเงินของบีโอเจ
ธนาคารกลางญี่ปุ่น จะมีการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 20-21 กันยายนนี้ โดยมีการคาดการณ์มากขึ้นว่าบีโอเจอาจจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม และมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ติดลบมากขึ้นจากระดับในปัจจุบัน ล่าสุด หนังสือพิมพ์นิกเกอิรายงานว่า บีโอเจจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ แม้ว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของบีโอเจอยู่ในระดับติดลบแล้วก็ตาม โดยบีโอเจมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินในอนาคต เนื่องจากปฏิบัติการซื้อพันธบัตรรัฐบาลใกล้จะถึงระดับสูงสุดแล้ว
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของบีโอเจได้ออกมาส่งสัญญาณว่า อาจจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับติดลบมากขึ้น เช่น นายฮิโรชิ นากาโสะ รองผู้ว่าการบีโอเจ ระบุว่า การขยายขอบเขตนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบยังคงเป็นมาตรการสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% พร้อมกับกล่าวว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบทำให้เกิดผลบวกในหลายๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงการขยายตัวของยอดการปล่อยเงินกู้ให้แก่บริษัทเอกชน ด้าน นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจ กล่าวว่า ยังมีโอกาสอีกมากที่บีโอเจที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติม พร้อมกับกล่าวด้วยว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธนาคารของญี่ปุ่น แต่คาดว่าผลกระทบที่อาจเกิดหลังการประชุมบีโอเจในวันที่ 20-21 กันยายน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าในการประชุมเดือนหน้าบีโอเจจะตัดสินใจอย่างไรก็น่าจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำได้ ดังนี้
1.หากบีโอเจไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มจะส่งผลให้สกุลเงินเยนยิ่งแข็งค่า ดอลลาร์อ่อนค่า หนุนราคาทองคำ
2.หากบีโอเจกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม เบื้องต้นต้องจับตาว่ามาตรการที่บีโอเจจะประกาศเพิ่มเป็นอย่างไร
หากมาตรการที่ประกาศเพิ่มไม่ได้แข็งกร้าวมากพอที่จะให้ตลาดเชื่อมั่นว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง อาจส่งผลให้สกุลเงินเยนแข็งค่า ดอลลาร์อ่อนค่า และส่งผลบวกต่อราคาทองคำ
แต่หากมาตรการที่ประกาศเพิ่มให้ตลาดเชื่อมั่นว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง อาจทำให้สกุลเงินเยนกลบมาอ่อนค่า ดอลลาร์แข็ง และกดดันราคาทองคำได้
อย่างไรก็ตาม หากบีโอเจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ติดลบมากขึ้น หรือใช้นโยบายที่รุนแรงอย่าง “Helicopter Money” ก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่หนุนราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยได้เช่นกัน
ถือได้ว่าในวันที่ 20-21 กันยายนนี้จะมีการประชุมธนาคารกลางชั้นนำของโลกถึง 2 แห่ง แห่งแรกคือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด และธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ ดังนั้น นักลงทุนต้องติดตามผลการประชุมอย่างใกล้ชิดเพื่อใช้เป็นปัจจัยในการชี้นำทิศทางราคาทองคำ นอกจากนี้ นักลงทุนจำเป็นต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในการถือสถานะในระหว่างการประชุมธนาคารกลางทั้ง 2 แห่ง เนื่องจากเป็นที่คาดการณ์ว่า ราคาทองคำรวมถึงสินทรัพย์ทั่วโลกมีความผันผวนค่อนข้างมากในเวลาดังกล่าว