xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.ลงดาบ “ประสิทธิ์” สั่งพักเบรก 2 ปี ฐานไม่ตรวจสอบข้อมูลลูกค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน)
ก.ล.ต. ลงดาบ CEO หมื่นล้าน “ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ” พักการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน 2 ปี เหตุเพิกเฉยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และไม่ให้เป็นที่ปรึกษาของบริษัท และการปฏิบัติงานอื่นที่อยู่ในขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ในธุรกิจตลาดทุน

สารสนเทศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้ประกาศผ่านเว็บไซต์ www.sec.co.th ถึงกรณีที่ทาง ก.ล.ต.ได้พิจารณา ลงโทษ นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากละเลยการตรวจสอบดูแลระบบงานในการทำความรู้จักลูกค้า และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และการกำกับดูแลการทำธุรกรรมของลูกค้า ซึ่งเป็นระบบงานหลักที่สำคัญ และมีผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนโดยรวม โดยพักการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน 2 ปี นอกจากนี้ จะเสนอต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบความผิดนายประสิทธิ์ ต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากที่ ก.ล.ต.พบการกระทำผิดดังกล่าวจากการเข้าตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) ตามแผนงานตรวจสอบตามปกติ (routine inspection) โดยพบความบกพร่องในระบบงานการทำความรู้จักลูกค้า และตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Know Your Customer/Customer Due Diligence : KYC/CDD) และการกำกับดูแลการทำธุรกรรมของลูกค้าที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะระบุตัวตน หรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงของลูกค้า รวมถึงยังไม่สามารถป้องกันการกระทำที่อาจไม่เหมาะสมของลูกค้าได้ และหากลูกค้าดังกล่าวมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย บริษัทอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกพิจารณาได้ว่า มีส่วนสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าวของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า นายประสิทธิ์ มีส่วนในการกระทำผิดของบริษัท และละเลยการตรวจสอบดูแลตามสมควร (fail to supervise) โดยเป็นผู้อนุมัติการเปิดบัญชี และเพิ่มวงเงินให้กับลูกค้าหลายราย ทั้งที่ลูกค้าดังกล่าวมีเอกสารทางการเงินไม่ครบถ้วน ข้อมูลไม่สอดคล้องกับมูลค่าธุรกรรมของลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ และไม่เพียงพอที่จะรู้ข้อเท็จจริงของลูกค้า นอกจากนี้ นายประสิทธิ์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันการฟอกเงินของบริษัท มิได้สั่งการให้มีการกระทำการใดเพิ่มเติม เมื่อพบว่าลูกค้ามีการทำธุรกรรมที่ไม่สอดคล้องกับศักยภาพทางการเงินอย่างมีสาระสำคัญ หรือพบลูกค้าทำรายการที่โดยปกติแล้วต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกกับลูกค้า แต่บริษัทภายใต้การดูแลของนายประสิทธ์ ไม่ได้มีการสั่งการให้ต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกดังกล่าว รวมถึงมีรายการของลูกค้าที่มีลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับระบบงาน KYC/CDD ซึ่งเป็นระบบงานหลักที่สำคัญ และมีผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนโดยรวม โดยได้สื่อสารกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย หน่วยงาน Compliance และบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งอย่างต่อเนื่อง สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.เคยพบความผิดในลักษณะนี้ และได้ดำเนินการตามกฎหมาย รวมทั้งสั่งการให้บริษัทระมัดระวัง และแก้ไขให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบปี 2557 มาแล้ว ซึ่งการที่บริษัทกระทำผิดดังกล่าว เข้าข่ายกระทำผิดมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยนายประสิทธิ์ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทมีส่วนในการกระทำผิดของบริษัท และละเลยการตรวจสอบดูแลตามสมควร จึงมีความผิดตามมาตรา 283 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ก.ล.ต.จะเสนอการกระทำผิดต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบความผิด ซึ่งหากนายประสิทธิ์ ไม่ยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบ จะดำเนินการกล่าวโทษต่อไป

นอกจากนี้ นายประสิทธิ์ ยังมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ก.ล.ต.จึงสั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนของนายประสิทธิ์ เป็นเวลา 2 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2559 โดยในช่วงดังกล่าว นายประสิทธิ์ จะไม่สามารถปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารงาน หรือการเป็นที่ปรึกษาของบริษัท และการปฏิบัติงานอื่นที่อยู่ในขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

ด้าน นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต.คาดหวังให้ผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์มีการกำกับดูแลกิจการตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดย ก.ล.ต.เห็นว่า การมีระบบการทำ KYC/CDD ที่ดีจะช่วยลดโอกาสในการกระทำที่ไม่เหมาะสม อันอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ลูกค้า หรือตัวบริษัทหลักทรัพย์เอง รวมถึงกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดทุนโดยรวม”
กำลังโหลดความคิดเห็น