สภาวะตลาดวันที่ 9 กันยายน 2559 ราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบที่ระดับ 1,334.23-1,339.57 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ภายในประเทศขายออกอยู่ที่ 21,150 บาทต่อบาททองคำ โดยราคาปรับตัวลดลง 950 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 22,100 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่โกลด์ฟิวเจอร์ส GFV16 อยู่ที่ 22,140 บาท โดยราคาปรับตัวลดลง 120 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 22,260 บาท
(หมายเหตุ : ข้อมูลนี้จัดทำขึ้น ณ เวลา 15.56 น. ของวันที่ 9/9/16)
แนวโน้มวันที่ 12 กันยายน 2559
ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ที่ -0.4 % ซึ่งเท่ากับว่าธนาคารพาณิชย์เป็นฝ่ายที่ต้องจ่ายเงินให้แก่อีซีบีเมื่อนำเงินมาฝากในช่วงข้ามคืน และอีซีบีตรึงอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ไว้ที่ 0.00 % โดยอัตราดอกเบี้ยนี้เป็นตัวกำหนดต้นทุนสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี จะศึกษาทางเลือกด้านนโยบายเพื่อรับประกันว่า อีซีบีจะสามารถดำเนินโครงการพิมพ์เงิน แต่ก็ไม่ได้ระบุว่า อีซีบีจะขยายการซื้อสินทรัพย์หรือไม่ สิ่งนี้ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า อีซีบีจะประกาศปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ทางเทคนิคในมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมเดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำก่อนการยืดอายุ QE ออกไปหลังเดือนมีนาคม 2017 ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงประเด็นดังกล่าวส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำให้ราคาทองคำขยับขึ้นต่อได้ เพราะสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยิ่งกระตุ้นการคาดการณ์ว่าเฟดจะไม่สามารถดำเนินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือส่งสัญญาณใดๆ ในการประชุมประจำเดือนกันยายนได้ ทั้งนี้ ราคาทองคำภายในประเทศได้รับแรงหนุนจากค่าเงินบาทอ่อนค่าเช่นเดียวกับสกุลเงินภูมิภาค โดยเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 34.80 หลังจากก่อนหน้าเงินบาทไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือน ที่ 34.52 ประกอบกับทิศทางทางตลาดหุ้นไทยร่วงลงมาแล้วกว่า 6% ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางแรงขายสุทธิของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ถึง 8.6 พันล้านบาท ซึ่งผู้จัดการกองทุนบางรายให้เหตุผลว่า เป็นการลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายในประเทศ เบื้องต้น ต้องรอดูการเคลื่อนไหวของราคาทองคำว่าจะสามารถยืนในบริเวณ 1,333-1,324 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างแข็งแกร่งหรือไม่ หากยืนได้แนวโน้มราคายังคงเป็นบวกในระยะสั้น แต่การเข้าซื้อทองคำจำเป็นต้องวางแผนให้ชัดเจน และจัดพอร์ตการลงทุนจะช่วยลดความเสี่ยง
กลยุทธ์การลงทุน ทางวายแอลจี มีมุมมองว่า หากราคาทองคำอาจมีการดีดตัวในช่วงสั้นๆ ขึ้นมาบ้าง โดยประเมินแนวต้านไว้ที่ระดับ 1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากสามารถขึ้นไปยืนเหนือแนวรับได้มีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้านถัดไปที่ 1,358 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากไม่สามารถผ่านไปได้ ราคาทองคำมีแนวโน้มย่อตัวลงมาบริเวณแนวรับ 1,333 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และหากราคายังหลุดแนวรับแรก ราคาทองคำจะปรับตัวลงสู่แนวรับสำคัญบริเวณโซน 1,324 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เบื้องต้น ในการเข้าซื้อทองคำนักลงทุนสามารถสังเกตว่าราคาทองคำยังทำจุดสูงสุดใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งหากราคาหยุดการทำในลักษณะนี้แสดงว่าแรงซื้อกำลังอ่อนแรงลง นักลงทุนยังต้องระมัดระวังแรงขายโดยน่าจะเห็นการอ่อนตัวของราคาลงมาอีกครั้ง
ทองคำแท่ง (96.50%)
แนวรับ 1,333 (21,920 บาท) 1,324 (21,780 บาท) 1,313 (21,590 บาท)
แนวต้าน 1,350 (22,210 บาท) 1,358 (22,340 บาท) 1,367 (22,490 บาท)
GOLD FUTURES (GFV16)
แนวรับ 1,324 (22,100 บาท) 1,313 (21,950 บาท) 1,305 (21,770 บาท)
แนวต้าน 1,350 (22,380 บาท) 1,358 (22,510 บาท) 1,367 (22,660 บาท)