xs
xsm
sm
md
lg

“สรรพากร” เดินหน้าขยายฐานภาษี เตรียมดึงธุรกิจ “ขายตรง-ออนไลน์” จดทะเบียนนิติบุคคล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สรรพากร” เดินหน้าขยายฐานภาษี เตรียมดึงธุรกิจ “ขายตรง-ออนไลน์” จดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมตั้งเป้าเก็บภาษี ปีงบฯ 60 จำนวน 1.8 ล้านล้านบาท

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีปีงบประมาณ 2559 ที่เหลืออีก 1 เดือน ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปี 1.75 ล้านล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังปรับลดลงมา และต่ำกว่าเป้าหมายในงบประมาณ 140,000 ล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ราคาน้ำมันตกต่ำ และการบริโภคขยายตัวไม่มาก

สำหรับปีงบประมาณ 2560 กรมสรรพากรตั้งเป้าจัดเก็บภาษี 1.8 ล้านล้านบาท คาดว่าจะได้ตามเป้า เพราะเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และกรมสรรพากรได้เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษี เช่น การทำบัญชีเดียว ทำให้ผู้ประกอบการเสียภาษีสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น

นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังเร่งขยายฐานภาษีตามนโยบายของกระทรวงการคลัง โดยการดึงผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาให้มาจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งที่ผ่านมา ได้ทำกับธุรกิจร้านทอง และอยู่ระหว่างดำเนินการกับธุรกิจขายตรง ร้านขายยา

หลังจากนี้ต่อไป กรมสรรพากรจะดึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งหมดเข้ามาเป็นนิติบุคคล ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ผู้ประกอบการรถเช่าโดยสาร ซึ่งคาดว่าจะขยายฐานภาษีได้มากกว่า 10,000 ราย โดยการให้บุคคลธรรมดามาเป็นนิติบุคคล แม้ว่าจะไม่ทำให้การเก็บภาษีนิติบุคคลมากขึ้น แต่จะทำให้การเก็บภาษีทางอ้อม คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้น

“การเก็บภาษีปีงบประมาณ 2560 ของกรมสรรพากรจะไม่พลาดเป้าแน่ เพราะกรมฯ มีมาตรการสำรองจำนวนมากที่จะทยอยออกมาเพื่อขยายฐานภาษี และการเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น”

ส่วนการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเพย์เมนต์ คาดว่าจะทำให้การเก็บภาษีของกรมสรรพากรเพิ่มขึ้นในปี 2561 หรือปี 2562 เป็นต้นไป ขณะที่การเก็บภาษีผู้ประกอบการค้าขายทำออนไลน์ หรืออี-คอมเมอร์ซ์ อยู่ระหว่างเก็บข้อมูล และแนวทางปฏิบัติ ซึ่งต้องมีการร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้งกรมสรรพากร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้กฎหมายให้ผู้ประกอบการมาจดทะเบียนกับกรมสรรพากร หากไม่ดำเนินการจะมีความผิด แต่คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ จึงจะมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น