“คลัง” เตรียมเสนอ “ครม.” คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ต่อไปอีก 1 ปี พร้อมดึงเอกชนร่วมทำวิจัยหักภาษีได้ 3 เท่า มองค่าเงินบาทในปัจจุบันเคลื่อนไหวในระดับที่เหมาะสม “ธปท.” สามารถดูแลได้ในระดับพอใจ
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ไว้ที่ร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายนนี้ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามคาด
ทั้งนี้ นายอภิศักดิ์ กล่าวในงานสัมมนาสมาคมการค้าประจำปี 2559 เรื่อง “มาตรการส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ” โดยว่า หลังจากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน จึงส่งผลต่อจีดีพีของประเทศ ทำให้จีดีพีไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 3.2 ไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 3.5 และไตรมาส 3 คาดว่าจะขยายเท่ากัน หรือมากกว่าไตรมาส 2 เนื่องจากดัชนีหลายตัวดีขึ้น สำหรับตัวเลขการส่งออกยอมรับชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกมากเกินไปในช่วงที่ผ่านมา จึงต้องเปลี่ยนมาเน้นพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศผ่านการปฏิรูปเศรษฐกิจด้านต่างๆ และหากค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินไป ย่อมกระทบต่อการส่งออก และเศรษฐกิจ ธปท. จึงต้องดูแลให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับคู่แข่ง มองว่าค่าเงินบาทในปัจจุบันเคลื่อนไหวระดับที่เหมาะสม
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนา เนื่องจากปัจจุบัน ไทยมีงบด้านวิจัย และพัฒนา เพียงร้อยละ 0.4 ขณะที่เกาหลีสูงถึงร้อยละ 2 จึงทำให้ก้าวข้ามจากประเทศขายแรงงานมาเป็นเศรษฐกิจบนพื้นฐานเทคโนโลยี รัฐบาลไทยจึงออกมาตรการให้เอกชนนำค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า
นอกจากนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างร่างกฎหมายเพิ่ม หากเอกชนมีส่วนร่วมในการทำวิจัยและพัฒนา หลายบริษัทสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกัน ด้วยการแยกออกเป็น 5 กลุ่ม เช่น การทำวิจัยด้านเกษตร ด้านนวัตกรรเทคโนอาหาร ด้านอิเล็กทรอนิกส์ ด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม
“แนวทางดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้หลายหน่วยงานทำวิจัยร่วมกันแล้วนำค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนที่ออกค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีโอกาสได้ทำวิจัย เช่น การวิจัยเรื่องข้าว มีหลายหน่วยงานออกค่าใช้จ่ายจ้างนักวิจัย หน่วยงานออกค่าใช้จ่ายมากหักภาษีได้มาก แต่มีโอกาสให้รายเล็กรายน้อยได้มีโอกาสทำวิจัย การวิจัยจึงมีทั้งบริษัทเอกชนรายใหญ่เป็นแกนนำ การวิจัยโดยร่วมมือจากนักวิจัยจากหน่วยงานของรัฐบาล สวทช., วว. การวิจัยผ่านร่วมกับนักวิจัยมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการวิจัยตามความต้องการ และผลักดันให้การวิจัยนำไปใช้อย่างจริงจัง และยังทำให้ภาคเอกชนได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมมากขึ้น” นายอภิศักดิ์ กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรม S-Curve ใหม่ ต้องการผลักดันเอกชนออกไปตั้งฐานการผลิตในเขตระเบียงเขตเศรษฐกิจภาตตะวันออก (EEC) เพื่อให้เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุน มีสนามบิน ท่าเรือทันสมัย สิทธิประโยชน์ทางภาษีหลากหลายผ่าน BOI Plus รัฐบาลต้องการผลักดันให้เอกชนลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว รัฐบาลต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรม 10 กลุ่มเป้าหมาย ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมการลงทุน เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เติบโต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบิน ต้องการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังรองรับสินค้า เพื่อส่งต่อออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน CLMV หากท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมต้องเร่งลงมือลงทุนก่อน หากต่างชาติเข้ามาแล้วจะได้โอกาสก่อนเพื่อนบ้าน จึงต้องการสร้างพื้นฐานที่ต้องการให้เติบโตในอนาคต ยอมรับสภาพคล่องในประเทศสูงมาก หากกู้เงินลงทุนระยะยาว เช่น หุ้นกู้ระยะเวลา 10 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 3 และหากลงทุนในช่วงรัฐบาลส่งเสริมให้ลงทุนช่วงนี้หักภาษีได้ 2 เท่า โดยเป็นโครงการที่ไม่จำเป็นต้องรับการส่งเสริมจากบีโอไอ โดยต้องลงทุนเพียงสิ้นปีนี้ ซึ่งเหลือเวลาอีก 4 เดือนเท่านั้น ผ่านการลงทุนเครื่องมือ เครื่องจักร และขยายกิจการ เมื่อเศษฐกิจโลกฟื้นตัวคาดว่าไทยจะเป็นประเทศแรกที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างโดดเด่น
นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เตรียมหารือ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน และมาตรการในการเข้าไปดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนจนกระทบกับผู้ส่งออก ยอมรับว่าอัตราแลกเปลี่ยนระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มีความเหมาะสม ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทไม่ผันผวน หรือแข็งค่าจนกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน คาดว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 0-2 แต่หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะติดลบได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ธปท.จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น เห็นได้จากนักลงทุนจากต่างประเทศและไทยเข้ามาลงทุนมากขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง และสถานการณ์ภัยแล้งไม่มีผลกระทบเศรษฐกิจมากนัก แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรในขณะนี้ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำก็ตาม จึงมองว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3.5 และเพื่อให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนได้มากขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลออกมาตรการทางด้านภาษี เพื่อสนับสนุนให้เอกชนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การสนับสนุนให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย