xs
xsm
sm
md
lg

โอนง่าย ไร้กังวลกับ PromptPay

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นาทีนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักพร้อมเพย์ (PromptPay) ระบบโอนเงินรูปแบบใหม่ภายใต้โครงการ National e-Payment ของรัฐบาลที่ทั้งสะดวก และรวดเร็ว เพราะไม่ต้องคอยพก หรือจำเลขที่บัญชีของตัวเอง แค่บอกเบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือเลขที่บัตรประชาชนของเราก็สามารถรับเงินโอนได้อย่างง่ายดาย แต่ก็เกิดคำถามตามมาทีหลังอีกว่า “ถ้ามันง่ายขนาดนี้ แล้วมันจะปลอดภัยจริงหรือ?” ลองมาดูข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบโอนเงินนี้กัน

ระบบพร้อมเพย์มีไว้สำหรับรับโอนเงินเข้ามาเท่านั้น

หลายคนอาจกังวลว่า ถ้ามีคนอื่นที่รู้เบอร์โทรศัพท์มือถือของเรา เลขบัตรประชาชนของเรา หรือแม้กระทั่งมีเครื่องโทรศัพท์ของเราอยู่ในมือแล้ว เค้าจะสามารถเจาะเข้าบัญชีของเราได้หรือเปล่า คำตอบ คือ ไม่ได้ค่ะ เพราะอย่างที่บอกว่าระบบพร้อมเพย์นี้มีไว้อำนวยความสะดวกประชาชนในด้านของการรับเงินโอนเข้าอย่างเดียว ซึ่งหมายความว่า ตัวระบบไม่มีสิทธิมากพอที่จะทำการถอนเงิน หรือโยกเงินออกจากบัญชี แต่หากจะเอาเงินออกจากบัญชี ก็ต้องมีหลักฐานต่างๆ ยืนยันตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของ ซึ่งหลักฐานก็แตกต่างกันไปตามแต่ละวิธีการ เช่น ถ้าต้องการเอาเงินออกจาก ATM ก็ต้องมี บัตร ATM และรหัสตัวเลข 4 หลัก, ถ้าจะเอาเงินออกจากบัญชีโดยติดต่อธนาคาร ก็ต้องมีสมุดบัญชี มีบัตรประชาชน และลายเซ็น หรือ ถ้าต้องการโอนเงินผ่าน mobile app หรือ internet banking ก็ต้องมี username, password และ รหัส OTP ที่จะถูกส่งไปที่มือถือ ที่ทำการลงทะเบียนไว้กับ mobile app หรือ internet banking ที่เราใช้งานอยู่ เพื่อยืนยันว่าเป็นเจ้าของบัญชีที่ดำเนินเรื่องธุรกรรมนั้นจริง

ถึงจะใส่เลขผิด ก็ไม่มีผลกับการโอน

ถึงจะโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ แต่ขั้นตอนก็ยังเหมือนการโอนเงินในระบบอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี ลองนึกถึงหน้าจอ ATM เมื่อตอนที่เราใส่เลขที่บัญชีผู้รับเข้าไป หน้าจอก็จะแสดงข้อมูลชื่อ-เลขที่บัญชีของผู้รับ พร้อมจำนวนเงินที่เราต้องการโอนมาให้เราตรวจสอบ และกดยืนยันก่อนที่จะทำการโอนเงินออกไปจริง ดังนั้น หากเราใส่เลขเบอร์โทรศัพท์ หรือ เลขที่บัตรประชาชนของผู้รับผิดไป ข้อมูลก็จะปรากฏบนหน้าจอ ถ้าหากข้อมูลไม่ใช่ของผู้รับที่เราตั้งใจโอนไปให้ เราก็สามารถยกเลิกธุรกรรมนั้นไปก่อน แล้วกลับไปตรวจสอบหมายเลขของผู้รับมาใหม่ ก่อนทำการโอนเงินอีกครั้งก็ได้

ทั้งนี้ ในกรณีใส่เลขผิด หรือโอนเงินไปผิดคนด้วยความไม่ตั้งใจ ก็สามารถติดต่อ Call Center หรือสาขาของธนาคารให้ช่วยดำเนินการให้ เพราะพร้อมเพย์ก็มีกฎหมายรองรับชุดเดียวกับการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แบบอื่นๆ ในปัจจุบัน ที่คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินในกรณีที่เกิดความผิดพลาดโอนเงินไปยังผู้รับผิดคน ส่วนประวัติการรับโอนเงิน ก็สามารถเช็คได้ตามปกติในระบบของธนาคารที่ท่านมีบัญชีอยู่

การผูกบัญชีต้องใช้อย่างน้อย 1 หมายเลขต่อ 1 บัญชีเท่านั้น

เชื่อว่าหลายคนยังคงสับสนกับการผูกบัญชีของระบบพร้อมเพย์ว่ามีข้อจำกัดยังไงบ้าง ถ้าสมมติว่า เรามีเบอร์โทรศัพท์ 2 เบอร์ และบัตรประชาชน 1 ใบ เราจะสามารถผูกทั้ง 3 หมายเลขของเราเข้ากับบัญชีธนาคารเดียวเลยก็ได้ หรือจะใช้แค่หมายเลขใดหมายเลขหนึ่งก็ได้เช่นกัน แต่ในกรณีที่เรามีบัญชีธนาคารมากกว่า 1 บัญชี เราสามารถแยกหมายเลขส่วนตัวของเราไปผูกกับหลายธนาคารได้ ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีธุรกิจ หรือมีการค้าที่ต้องมีคนโอนเงินเข้าบ่อยๆ เราอาจจะผูกเบอร์โทรศัพท์ที่เป็นเบอร์ร้านค้าไว้กับบัญชีร้านค้า และหากเราทำงานประจำไปด้วย ก็อาจผูกเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวของเรากับบัญชีเงินเดือน, ส่วนบัตรประชาชน อาจไปผูกไว้กับบัญชีออมทรัพย์ต่างหาก เผื่อเอาไว้รับเงินภาษีคืนจากรัฐบาล ซึ่งจะสะดวกต่อทั้งสองฝ่าย เพราะใช้เลขที่บัตรประชาชนเป็นตัวเชื่อมข้อมูลนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าระบบพร้อมเพย์นั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่กลับจะยิ่งช่วยให้เรารับเงินโอนได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งในช่วงเริ่มเปิดตัวแบบนี้ แต่ละธนาคารก็มีโปรโมชันที่น่าสนใจมากมายมานำเสนออีกด้วย รู้อย่างนี้ก็อย่ารอช้า ชวนครอบครัว และเพื่อนไปสมัครพร้อมเพย์ด้วยกันเลย หากยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติม จะลองติดต่อธนาคารที่เราเปิดบัญชีไว้ก่อนเพื่อสอบถามให้คลายสงสัยก็ได้ ทีนี้จะได้ลงทะเบียนใช้งานได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก Krungsri Guru เกี่ยวกับระบบการทำงานของ พร้อมเพย์ และเรื่องความปลอดภัย

(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)

กำลังโหลดความคิดเห็น