ผู้ว่าการ ธปท.แนะสร้างความยั่งยืนแบงก์รัฐ เพื่อไม่ให้กระทบฐานะการคลังในระยะยาว พร้อมเดินหน้ากำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “พลิกโฉม SFIs กับภารกิจที่ตอบโจทย์ และตรงจุด เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง” โดยแนะแนวทางปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) อย่างยั่งยืน เพื่อไม่ให้สร้างภาระทางการคลังของประเทศในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมา SFIs มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมาโดยตลอด แต่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล จนทำให้ละเลยการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม
“บางโอกาส SFIs ถูกร้องขอให้เป็นเครื่องมือตอบสนองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม รอบด้าน จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อฐานะการดำเนินงานของ SFIs และสร้างภาระการคลังให้แก่ประเทศในระยะยาว” นายวิรไท กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ปัจจุบัน สถานะของ SFIs ยังถือว่ามีความเข้มแข็ง ภาพรวมของเงินกองทุนสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ซึ่งมี SFIs เพียง 1-2 แห่งเท่านั้น ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ขณะที่สินเชื่อยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และสามารถรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในเกณฑ์ที่ดี
ขณะที่สินทรัพย์ของ SFIs ขณะนี้มีมูลค่าสูงกว่า 5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 25% ของระบบสถาบันการเงินไทย มีจำนวนสาขารวมเกือบ 2,500 สาขาทั่วประเทศ โดยสินทรัพย์ของ SFIs เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ภายในระยะเวลา 7 ปี
หากพิจารณารายละเอียดก็จะเห็นถึงการทำหน้าที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนในกลุ่มที่ธนาคารพาณิชย์ไม่เน้นให้บริการ เช่น ประชาชนฐานราก เกษตรกร กลุ่ม SMEs โดยเฉพาะที่ขาดหลักประกัน หรือไม่มีประวัติทางการเงิน ซึ่ง SFIs ยังต้องทำหน้าที่ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางการเงิน เพื่อให้การเข้าถึงบริการทางการเงินสร้างประโยชน์แท้จริงต่อผู้ใช้บริการด้วย
นอกจากนี้ SFIs ยังทำหน้าที่สำคัญในการดำเนินตามนโยบายรัฐบาล เช่น การเป็นช่องทางกระจายสวัสดิการ และความช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มเป้าหมาย หรือแม้แต่การยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งช่วยส่งผลดีต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ต่อไป
“คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นเป็นเรื่องที่ได้รับความสำคัญอย่างมากจากประชาชน นักการเมือง และรัฐบาล ซึ่งในหลายครั้งการเติบโตระยะสั้นกลับเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญกว่าโจทย์ระยะยาวในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ถูกลดทอนบทบาทลงไป” นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท กล่าวอีกว่า การสร้างความยั่งยืนให้แก่ SFIs ประกอบด้วยปัจจัยหลัก 4 ประการ คือ 1.ฐานะการเงินที่มั่นคง 2.ความสามารถของฝ่ายจัดการในการสรรหาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ 3.ความเป็นเลิศในระบบปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยง และควบคุมภายใน และ 4.ความมั่นใจ และความไว้วางใจจากประชาชนผ่านการดำเนินการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้
การปฏิรูป SFIs สอดคล้องกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ แต่เนื่องจาก SFIs เป็นสถาบันการเงิน มีการรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไป และมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมอบหมายให้ ธปท.ทำหน้าที่กำกับดูแลความมั่นคงของ SFIs ด้วย โดยกำหนดให้ ธปท.ทำหน้าที่หลัก 4 เรื่อง คือ 1.การออกเกณฑ์กำกับดูแลที่เหมาะสม 2.การตรวจสอบความเหมาะสมของผู้บริหาร และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3.การติดตาม และตรวจสอบการดำเนินงาน และ 4.การสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาในกรณีที่พบว่า มีการดำเนินงานที่ผิดพลาด หรือสร้างความเสี่ยงที่จะกระทบต่อความยั่งยืนของ SFIs
ทั้งนี้ การปฏิรูปหรือยกระดับศักยภาพของ SFIs จะต้องเกิดขึ้นไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินหลายด้าน โดยมีอย่างน้อย 3 ความท้าทายที่จะต้องให้ความสำคัญ คือ 1.ความผันผวนในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์
2.การพัฒนาการของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดต้นทุนการปฏิบัติงานด้วย และ SFIs ยังจำเป็นต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลลูกค้าเพื่อให้กระบวนการบริหารความเสี่ยงทั้งของ SFIs และลูกค้ามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นความท้าทาย ทั้งในด้านการแข่งขัน และการบริหารจัดการไปพร้อมๆ กัน
และ 3.ความท้าทายจากกฎกติกาใหม่ที่จะเกิดขึ้น ทั้งจากการกำกับดูแลของ ธปท. จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, มาตรฐานการบัญชีใหม่ๆ หรือกฎเกณฑ์กติกาเกี่ยวกับการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน เป็นต้น