ผู้ว่าการ ธปท.กำชับทุกแบงก์เข้มดูแลระบบเอทีเอ็ม หลังออมสินโดนแฮกเกอร์เข้าโจรกรรมเงิน ย้ำให้แบงก์ต้องมีมาตรการป้องกันความเสี่ยง
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวถึงกรณีที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารออมสินถูกแฮก โดยยอมรับว่าได้รับรายงานมาระยะหนึ่งแล้ว โดยธนาคารเริ่มพบความผิดปกติของตู้เอทีเอ็มมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารได้ปิดระบบเครือข่ายเอทีเอ็มบางส่วนเพื่อจำกัดความเสียหาย พร้อมทั้งกำชับไปยังธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ให้ตรวจสอบ และระมัดระวังเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย ซึ่งหน่วยงานฝ่ายเทคโนโลยีของทุกธนาคารได้มีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยืนยันว่ามีเพียงธนาคารเดียวที่เสียหาย ส่วนสถาบันการเงินอื่นๆ นั้น ยังไม่ได้รับแจ้ง และขึ้นอยู่กับระบบของเเต่ละธนาคารเอง เพราะมีหลายองค์ประกอบทั้งระบบซอฟต์แวร์ ระบบการตรวจสอบยอดเงิน และระบบเครือข่ายเอทีเอ็ม แต่ยืนยันว่าระบบเอทีเอ็มของไทยได้รับการยกระดับเรื่องของซอฟต์เเวร์มาโดยตลอด
ทั้งนี้ ขณะนี้ทางธนาคารต้องส่งตู้เอทีเอ็มไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบที่ต่างประเทศ ซึ่งต้องรอผลการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง และความเสียหายที่เกิดขึ้น กระทบเฉพาะธนาคารพาณิชย์ไม่มีผลต่อบัญชีของลูกค้า
ด้าน นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีธนาคารออมสิน หยุดให้บริการตู้ ATM บางส่วน เนื่องจากพบความผิดปกติในการกดเงินสดออกจากตู้ ATM เพื่อควบคุมความเสียหายให้อยู่ในวงจำกัด โดยความเสียหายดังกล่าวไม่กระทบต่อบัญชีลูกค้าแต่อย่างใด และยังคงมีตู้ ATM ของธนาคารออมสิน ส่วนใหญ่เปิดให้บริการตามปกติ
ทั้งนี้ ในระหว่างที่มีการหยุดให้บริการตู้ ATM บางส่วนของธนาคารออมสิน ลูกค้าสามารถใช้บริการตู้ ATM ในเขตพื้นที่เดียวกันของทุกธนาคารได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม สำหรับช่องทางอื่น เช่น สาขา Internet/Mobile Banking ยังคงให้บริการได้ตามปกติเช่นเดียวกัน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ธปท.ได้รับรายงานจากธนาคารออมสิน ตั้งแต่เริ่มพบความผิดปกติ จึงได้มีการประสานงานติดตามร่วมกับธนาคารออมสินอย่างใกล้ชิด ขณะนี้เรื่องดังกล่าวได้อยู่ระหว่างดำเนินการโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะเดียวกัน ธปท.ได้กำชับให้ธนาคารออมสิน เร่งปรับปรุงระบบให้มีความรัดกุม และปลอดภัยยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ธปท.ได้มีการสื่อสารเหตุการณ์ดังกล่าวไปยังสถาบันการเงินแห่งอื่น ผ่านกลุ่มความร่วมมือที่จัดตั้งภายใต้สมาคมธนาคารไทย เพื่อให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งได้ตระหนัก มีการประสานความร่วมมือเฝ้าระวัง และมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงของระบบ ATM ให้รัดกุมยิ่งขึ้น