พี.ซี.เอส. แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง คาดรายได้และกำไรปีนี้ใกล้เคียงปีก่อนหน้า พร้อมปรับกลยุทธ์การทำตลาดใหม่รองรับความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น แย้มปลายปีอุตฯ ยานยนต์ไทยจะกลับมาฟื้นตัวคึกคักอีกครั้ง เพราะโครงการรถคนแรกสิ้นสุดลง เผยโครงการโซลาร์ รูฟท็อป ได้ผลเกินคาดช่วยลดต้นทุนค่าไฟได้กว่า 20 ล้านบาท/ปี
นายประสงค์ อดุลยรัตนนุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พี.ซี.เอส. แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง หรือ PCSGH กล่าวว่า บริษัทประมาณการรายได้และกำไรสุทธิในปี 2559 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 4,140 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของกำไรสุทธิอยู่ที่ 541 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากบริษัทได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศที่ชะลอตัวลง ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งใน และต่างประเทศที่ฟื้นตัวช้า ทำให้กระทบต่อยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ และการส่งออก
ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าจะเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในไตรมาส 4/59 ที่คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน เนื่องจากโครงการรถยนต์คันแรกที่จะหมดอายุการห้ามซื้อขายรถยนต์สำหรับผู้ซื้อที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จึงเป็นสัญญาณว่าจะมีการขายรถยนต์เก่า และซื้อรถยนต์ใหม่ ทำให้ตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์กลับมาคึกคักอีกครั้ง
“รายได้ปีนี้บริษัทจะคงไว้ที่ระดับใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศ และการส่งออก ยังชะลอตัวอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มไตรมาส 4 ปีนี้ จะเริ่มมีสัญญาที่ฟื้นตัวขึ้นจากการที่อายุโครงการรถยนต์คันแรกจะหมดลง ดังนั้น จะทำให้มีตลาดรถยนต์ใหม่กลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะมีการออกรถยนต์รุ่นใหม่มากระตุ้นตลาดเพิ่มมากขึ้น”
ขณะที่ในส่วนของงานที่เกี่ยวเนื่องกับสายการผลิตมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบท์นั้น บริษัทฯไดมีการทยอยส่งมอบงานส่วนการผลิตชิ้นส่วนเสื้อสูบรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ มูลค่างานกว่า 200 ล้านบาท โดยมีระยะโครงการจำนวน 6-7 ปี ส่วนกลุ่มชิ้นส่วนนอกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ มูลค่างาน 170 ล้านบาท ขณะที่โครงการผลิตชิ้นส่วนท่อไอเสียให้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่ มูลค่างาน 1,300 ล้านบาท ได้มีการเลื่อนการส่งมอบสินค้าออกไปเป็นในช่วงไตรมาส 1/2560
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีการปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ (ปิ๊กอัป) ที่บริษัทมีสัดส่วนรายได้จำนวน 90% บริษัทได้ปรับกลยุทธ์การทำตลาดใหม่ ด้วยการหาตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ใหม่ๆ เข้ามาเสริมทดแทน ได้แก่ การผลิตชิ้นส่วนให้แก่รถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ หรือ บิ๊กไบท์ และรถบรรทุกเพื่อการขนส่ง รวมถึงชิ้นอลูมิเนียม และโลหะประเภทที่ใช้ในอุตสาหกรรม ตลอดจนสินค้านอกเหนือจากที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อีกทั้งบริษัทยังได้มีการหาสินค้าใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายขึ้น
สำหรับความคืบหน้าในส่วนของงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โครงการโซลาร์รูฟท็อป) ขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จ และมีแผนที่จะขยายเพิ่มอีก 2 เมกะวัตต์ ซึ่งการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวนั้น จะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตทำให้บริษัทสามารถมีการหมุนเวียนรายรับที่เพิ่มขึ้น และมีการรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 เป็นต้นมา โดยหากนับรวมรอบการจ่ายไฟ 12 เดือน จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้จำนวนถึง 20 ล้านบาท/ปี