สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 2 ปี 2016 ขยายตัว 3.5% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า หรือเติบโต 0.8% หากเทียบกับไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตได้ 3.8% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า โดยสูงขึ้นจาก 2.3% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า นำโดยการบริโภคหมวดสินค้าคงทนและกึ่งคงทน โดยเฉพาะหมวดยานพาหนะที่เติบโตได้ถึง 13.1% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 3 ปี จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการส่งเสริมการขายในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่การลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 10.4% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า จากการลงทุนในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน รวมถึงการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกภาคบริการเติบโตในระดับสูงที่ 12.1% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตได้ช้าลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงหลังจากที่ได้เร่งเบิกจ่ายไปในช่วงก่อนหน้า
นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้ายังไม่ฟื้นตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้เพียง 0.1% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้าจาก 2.1% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้าในไตรมาสก่อน ปัจจัยหลักมาจากการก่อสร้างที่อยู่อาศัยหดตัวลงจากไตรมาสก่อนหลังมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์หมดไป รวมถึงการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมก็หดตัวลง หลังจากโรงงานที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ได้ก่อสร้างเสร็จไปเป็นจำนวนมากแล้ว ในขณะที่การส่งออกสินค้าพลิกกลับมาหดตัวที่ 2.5% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้าจากที่ขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.0% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังอ่อนแอ แม้มีปัจจัยสนับสนุนด้านการส่งออกทองคำที่ทำให้การส่งออกรวมติดลบน้อยลง
อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้นตัวต่อเนื่องแต่อาจไม่ร้อนแรง การบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตได้ดียังคงมีปัจจัยบวกในครึ่งปีหลัง เพราะจะได้รับอานิสงส์จากการสิ้นสุดมาตรการรถคันแรกตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้มีกำลังซื้อบางส่วนกลับเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ และมีโอกาสที่ยอดขายยานพาหนะจะกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ อย่างไรก็ตาม แรงขับเคลื่อนสำคัญอย่างการใช้จ่ายภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตดีกว่าที่คาดในครึ่งปีแรกอาจมีการชะลอการเติบโตลงในช่วงครึ่งปีหลังจากเม็ดเงินของมาตรการลงทุนขนาดเล็กที่เริ่มหมดลง ประกอบกับปัจจัยฐานสูงของการลงทุนภาครัฐในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ การเติบโตในระดับสูงของภาคการท่องเที่ยวของไทยอาจมีการชะลอตัวลงหากนักท่องเที่ยวต่างชาติขาดความเชื่อมั่นจากเหตุก่อความไม่สงบในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่ภาคใต้
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงที่สำคัญ แม้การบริโภคจะส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่การเติบโตที่ต่อเนื่องอาจมีข้อจำกัดจากกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ยังคงถูกกดดันจากแนวโน้มการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรที่อาจไม่ยั่งยืน ขณะที่การจ้างงาน และชั่วโมงการทำงานที่ยังคงลดลงเช่นเดียวกันกับอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเฉลี่ยที่ลดลงเช่นกัน ด้านการส่งออกมีความเป็นไปได้สูงที่จะยังคงหดตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และการค้าโลกที่ชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ต้องจับตาดูความเสี่ยงที่ถูกเพิ่มเข้ามาใหม่ คือ เหตุการณ์ Brexit ที่ได้เริ่มส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรแล้ว จึงควรเฝ้าระวังการลุกลามของผลกระทบต่อไทยผ่านช่องทางการค้า และการท่องเที่ยวในระยะต่อไป นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากฝั่งสหรัฐฯ ที่ยังมีความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย