xs
xsm
sm
md
lg

การลงประชามติสร้างความชัดเจนให้ตลาดฯ ขณะที่กำไร บจ.ยังเป็นปัจจัยพื้นฐานหลักที่สำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


KTBST ชี้ การลงประชามติสร้างความชัดเจนให้ตลาดฯ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ขณะที่ต้องรอปัจจัยหนุนหลักด้านพื้นฐาน หากกำไร บจ.ออกมาดี ก็จะทำให้ SET วิ่งต่อได้ พร้อมให้กรอบ 1,480-1,550 จุด

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST เปิดเผยว่า การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค.นี้ ตลาดจะจับตามอง แต่ถือว่าการลงประชามติเป็นการทำให้เกิดความชัดเจนในทางการเมือง ซึ่งไม่ว่าผลการลงประชามติจะออกมาเป็นอย่างไร จะรับร่างหรือไม่รับก็ตาม เรามองว่าจะไม่ส่งผลให้ตลาดหุ้นขึ้น หรือลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ตลาดเกิดมีทิศทางที่ชัดเจนในสัปดาห์ถัดไป (8-12 ส.ค.)

ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดจะมีความชัดเจนแล้วหลังทราบผลการลงประชามติ แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูปัจจัยพื้นฐานนั่นคือ ตัวเลขผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ถ้าตัวเลขที่ออกมาไม่ได้สนับสนุนตลาดมาก ดัชนีตลาดก็จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,480-1,550 จุด ดังนั้น นักลงทุนต้องจับตามองเรื่องตัวเลขของบริษัทจดทะเบียนกล่าวด้วย

ขณะเดียวกัน อีกเรื่องที่ต้องจับตาดู คือ ราคาน้ำมัน เพราะเป็นปัจจัยหลักต่อทิศทางของตลาดหุ้นไทย ดังนั้น ถ้าราคาน้ำมันยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็อาจส่งผลให้ตลาดปรับตัวลงได้ แต่หากราคาน้ำมันดีดตัวกลับขึ้นไปที่ระดับ 40-45 เหรียญสหรัฐ ดัชนีตลาดอาจปรับตัวขึ้นมาทดสอบที่ระดับ 1,520-1,550 ได้

“มองว่าราคาน้ำมันยังน่าจะรีบาวนด์กลับมาได้ ดังนั้น KTBST จึงแนะนำให้นักลงทุนเข้าซื้อได้ในหุ้นกลุ่มน้ำมัน ทั้ง PTT และ PTTEP รวมไปถึงเก็บหุ้นกลุ่มที่มีการจ่ายเงินปันผลสูงอย่าง INTUCH และจากการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบัน จึงแนะนำให้เน้นลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตาดอกเบี้ยเงินฝาก LPN” ดร.วิน กล่าว

นายชาตรี โรจนอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ KTBST เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงแรงจากแรงเทขายทำกำไร หลังปรับตัวขึ้นมาอย่างเนื่องจนระดับราคาขึ้นไปอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับอดีต โดยหุ้นในกลุ่มธนาคารในยุโรป หลังมีข่าว Commerzbank และ UniCredit พิจารณาเพิ่มทุน และหุ้นในกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวลงตามราคาน้ำมันที่ปิดระดับต่ำกว่า 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ค่าเงินเยนที่แข็งขึ้นสู่ระดับ 101.6 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงหลังผลโหวต Brexit กดดันตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้ปิดตัวในแดนลบ

ทั้งนี้ จากการที่ญี่ปุ่นแถลงรายละเอียดนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มูลค่า 28 ล้านล้านเยน โดย 7.5 ล้านล้านเยน เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเริ่มในปีนี้, 6 ล้านล้านเยน เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, 3.4 ล้านล้านเยน เป็นโครงสร้างพื้นฐาน, 1.3 ล้านล้านเยน เป็นเงินสำรองเพื่อรับมือ Brexit และ 2.7 ล้านล้านเยน เพื่อบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินลงทุนที่จะลงไปในเศรษฐกิจจริงในปีงบประมาณนี้มีเพียง 4.6 ล้านล้านเยน เท่านั้น รายละเอียดมาตรการดังกล่าวไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้ ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลีย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลด 0.25% เหลือ 1.50% ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเรีย โดยให้เหตุผลเรื่องเงินเฟ้อ และการเติบโตของค่าจ้างที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์

“KTBST ยังแนะนำให้ขายทำกำไรในหุ้นญี่ปุ่นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ และแนะนำเข้าซื้อตลาดหุ้นเอเชียอื่นๆ จากเม็ดเงินลงทุนที่ไหลมาในเอเชียเพิ่มเติม รวมถึงทยอยสะสมทองคำ เพื่อรองรับความผันผวนของตลาดหุ้นในระยะสั้น สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ KTBST ยังคงแนะนำให้สะสมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐาน และหุ้นกู้เอกชนไทย” นายชาตรี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น