ธปท.เสนอแก้กฎหมายให้กองทุนฟื้นฟูฯ ดูแลแก้ปัญหาสถาบันการเงินที่มีปัญหา หรือปิดกิจการ ให้สามารถดำเนินการได้หลายแนวทาง ไม่ใช่การให้กู้ หรือเข้าไปซื้อหุ้นแต่เพียงอย่างเดียว และไม่ควรใช้เงินช่วยเหลือจากภาครัฐ พร้อมแจงกรณี FDI สุทธิต่ำกว่าปีก่อน เกิดจาก นลท.ไทยซื้อกิจการบิ๊กซี ซึ่งบันทึกเป็นเงินไหลออก ย้ำต่างชาติยังเข้าลงทุนในไทยต่อเนื่อง
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) กล่าวว่า ธปท.จะเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขกฎหมายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) ในส่วนของมาตรา 19 ที่เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินเมื่อประสบปัญหา เนื่องจากพบว่ายังมีช่องโหว่เวลาที่เกิดปัญหาขึ้นกับระบบสถาบันการเงิน โดยต้องมีเครื่องมือที่ครบถ้วน และมีกลไกการตัดสินใจที่ทำได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ ธปท.จะเสนอแก้ไขให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินได้ มีการปรับเงื่อนไข 2-3 เรื่อง โดยศึกษาบทเรียนที่เกิดขึ้นกับวิกฤตระบบสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือสถาบันทางการเงินที่มีปัญหา หรือปิดกิจการ สามารถทำได้หลายทาง ทั้งการแยกหนี้ดีหนี้เสีย เป็นต้น ไม่ใช่การให้กู้ หรือเข้าไปซื้อหุ้นสถาบันการเงินแต่เพียงอย่างเดียว และไม่ควรใช้เงินช่วยเหลือทางภาครัฐเพียงอย่างเดียว
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การเตรียมการดังกล่าวนี้ เพื่อรองรับอนาคตให้ระบบสถาบันการเงินของไทยพร้อมเข้าสู่การประเมินภายใต้โครงการ FSAP หรือโครงการประเมินภาคการเงิน ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ในปี 2560
นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท.ยังชี้แจงว่า เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ ที่ไหลเข้าประเทศไทย จำนวน 347 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งอาจจะดูน้อยหากเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพราะตัวเลขดังกล่าวเป็นเอฟดีไอสุทธิ เพราะมีการหักเงินไหลออก กรณีการขายหุ้นบิ๊กซี วงเงินไหลออกถึง 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่มีกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมแต่อย่างใด
ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูล FDI ซึ่งเป็นข้อมูลของ ธปท.ทางหน้าหนังสือพิมพ์ในวันนี้นั้น นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า มูลค่า FDI สุทธิ (net FDI) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ที่ต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อนมาก และดูต่ำกว่าปกติ มีสาเหตุหลักมาจากการที่นักลงทุนไทยซื้อกิจการธุรกิจค้าปลีกในประเทศจากนักลงทุนต่างชาติในไตรมาสแรกของปี ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวมีมูลค่าสูง และลงบัญชีเป็น FDI ไหลออก
ทั้งนี้ หากไม่รวมรายการดังกล่าวแล้ว FDI สุทธิจะมีมูลค่าต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อนไม่มาก โดยการลดลงของ FDI ในส่วนที่เหลือไม่ได้น่าตกใจ เพราะ (1) มีผลของฐานสูง เนื่องจากในช่วงต้นปี 2558 มี FDI รายการใหญ่เข้ามาเพิ่มทุนในธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นปัจจัยบวกพิเศษ และ (2) มีผลของสินเชื่อการค้าของกิจการในเครือ (Trade Credit) ที่ลดลง สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าของไทยที่หดตัวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะ FDI ขาเข้าในส่วนที่เป็น equity หรือหุ้นทุน ซึ่งเป็นตัวชี้เม็ดเงินลงทุนใหม่นั้น ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง