ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองผลกระทบ Brexit ต่อตลาดเงิน-ตลาดทุน ขึ้นกับนโยบายสร้างความเชื่อมั่นทาง ศก.ของอังกฤษ ให้สามารถยืนอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง และหยุดการดิ่งลงของค่าเงินปอนด์ ชี้ผลที่กระทบต่อไทยจะมีเพียงความไม่แน่นอนของตลาดเงินระยะสั้นในเดือน มิ.ย.เท่านั้น หลังจากนั้น จุดสนใจจะถูกดึงกลับไปยังจังหวะการขึ้นอัตรา ดบ.ของเฟด และทิศทาง ศก.ของจีน
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า การทำประชามติเรื่องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ของสหราชอาณาจักร (UK) หรือ EU Referendum ในวันที่ 23 มิ.ย.59 นั้น ถ้า UK ตัดสินใจยังอยู่ร่วมกับ EU เหมือนเดิม หรือ “Remain” ผลที่กระทบต่อไทยจะมีเพียงความไม่แน่นอนของตลาดเงินระยะสั้นในเดือน มิ.ย. หลังจากนั้น จุดสนใจจะถูกดึงกลับไปยังจังหวะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) รวมทั้งทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2559
แต่หากผลโหวตปรากฏว่า UK ตัดสินใจถอนตัวออกมาเป็นอิสระ หรือเกิด “Brexit” ผลกระทบเฉพาะหน้าจะเกิดต่อตลาดเงิน และตลาดทุนเป็นหลัก รวมทั้งส่งผลต่อเนื่องถึงระยะกลางจนกว่ากระบวนการเจรจาเพื่อหารูปแบบการออกจาก EU จะสิ้นสุดลง ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี หลังจากนั้น จึงจะออกจากการเป็นสมาชิกภาพ
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองว่า สิ่งสำคัญที่จะชี้ว่าผลกระทบจาก Brexit จะรุนแรงแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับมาตรการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของ UK ให้สามารถยืนอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ไม่ได้เป็นสมาชิก EU ซึ่งจะช่วยหยุดการดิ่งลงของค่าเงินปอนด์ แต่ถ้าหากไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจกลับมาเพียงพอที่จะทำให้ค่าเงินปอนด์กลับมามีเสถียรภาพได้อย่างรวดเร็ว สถานการณ์จะพลิกกลับมาเกิดผลกระทบลุกลามเลวร้ายมากยิ่งขึ้น โดยค่าเงินปอนด์ และค่าเงินยูโรในช่วงที่เหลือของปีอาจไถลลงอีกทำให้ทั้งปี 2559 อ่อนค่า 15-20% ซึ่งตั้งแต่เริ่มแคมเปญ Brexit ในเดือน ก.ย.58 ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวต่อเนื่อง 7.3% จนถึงวันที่ 14 มิ.ย.59 ร่วงลงมาแตะที่ 1.414 ปอนด์/ดอลลาร์
โดยในกรณีดี หากทางการ UK มีกรอบเวลาชัดเจนสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา สกัดผลกระทบด้านค่าเงินได้อย่างรวดเร็ว หรือค่าเงินปอนด์ไม่ต่างจากปัจจุบันมากนัก จะกระทบเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ค่อนข้างน้อยเพียง 0.02-0.04% ของ GDP ไทย หรือคิดเป็นมูลค่าราว 3,000-5,500 ล้านบาท
แต่ในกรณีเลวร้าย หากทางการ UK ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาได้ และส่งผลลุกลามสู่ EU ฉุดทั้งค่าเงินปอนด์ และค่าเงินยูโรอ่อนค่ารุนแรงตลอดช่วงครึ่งหลังของปี 2559 โดยทั้งค่าเงินปอนด์ และค่าเงินยูโรอาจร่วงลงเหมือนในช่วงเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551-2552 ส่งผ่านผลกระทบมาถึงความสัมพันธ์ทางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนต่อไทย โดยถ้าหากมองความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแค่เพียงไทยกับ UK อาจมีไม่มากนัก แต่เมื่อรวมทั้ง EU คิดเป็น 9.8% ของ GDP ไทย
ทั้งนี้ กำลังซื้อที่อ่อนแรงลงของ UK และ EU จะสะท้อนผลลบกลับมายังไทยในมิติต่างๆ ดังนี้ 1.การส่งออกของไทยไป EU จะได้รับความอ่อนไหวรวดเร็ว และปรากฏผลชัดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 2.การท่องเที่ยวในไทยมีข้อได้เปรียบที่ค่าใช้จ่ายไม่สูง แม้ว่าค่าเงินของยุโรปจะอ่อนค่าก็ยังดึงดูดให้นักท่องเที่ยว EU เดินทางมาไทย จึงขึ้นอยู่กับว่าการผันผวนของค่าเงินจะมีผลต่อเนื่องรุนแรงเพียงใด อันจะยิ่งกดดันให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
3.การลงทุนจากต่างประเทศในไทย (FDI) ที่มาจาก EU มีความไม่แน่นอนจากผลของค่าเงินที่อาจกระทบการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในไทย โดยเม็ดเงินที่อาจชะลอลง ได้แก่ ในหมวดอสังหาริมทรัพย์ การค้าส่ง/ค้าปลีก การผลิตคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ การเงิน/การประกันภัย การผลิตอาหารและการผลิตเคมีภัณฑ์ ในทางกลับกัน การลงทุนไทยในต่างประเทศ (TDI) อาจมีโอกาสลงทุนในยุโรปด้วยต้นทุนต่ำ โดยผลของเงินปอนด์ และเงินยูโรที่อ่อนค่าเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพใช้จังหวะนี้เข้าซื้อกิจการในยุโรป
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดว่า ในกรณีเลวร้ายที่ไม่สามารถหยุดความผันผวนในตลาดเงินได้นั้น การเกิด Brexit จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการดิ่งลงของค่าเงินปอนด์เป็นหลัก ผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ คิดเป็น 0.1-0.2% ของ GDP ไทย หรือมีมูลค่าราว 8,900-20,000 ล้านบาท โดยผลกระทบเหล่านี้จะยังดำเนินต่อเนื่องจนกระทั่ง UK ถอนตัวออกจาก EU อย่างสมบูรณ์ ซึ่งนั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของผลกระทบที่แท้จริง และจะส่งผลต่อไทยในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อมองไปข้างหน้าการถอนตัวของ UK นอกจากจะสร้างความหวั่นไหวต่อเส้นทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่สกอตแลนด์ อาจแยกตัวออกจาก UK ด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ยังเพิ่มความท้าทายต่อ EU ในการรักษาความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มเศรษฐกิจ ซึ่ง EU คงต้องมีท่าทีสานสัมพันธ์กับ UK ด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดข้อเปรียบเทียบกับสมาชิกที่เหลือของ EU อีกทั้งการดำเนินนโยบายข้างหน้าคงมีท่าทีรอมชอมมากขึ้น เพื่อลดความแตกแยกของสมาชิกที่มีความเห็นไม่สอดคล้องต่อนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของ EU และยูโรโซน (Euro Zone) เพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินรอยตาม UK ในอนาคตข้างหน้า