xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ออมสิน...ยุค...ปฏิรูป!..(1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนที่ 16
ครบรอบ 1 ปี 6 เดือนในตำแหน่ง “ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน” ของ “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ต้องยอมรับว่า ภาพลักษณ์ธนาคารออมสินเปลี่ยนไป “ชาติชาย” นำการทำงานเชิงธนาคารพาณิชย์เอกชนเข้ามาปรับแนวทางการทำงานของบุคลากรภายในออมสิน มอบนโยบายภายในนำพาบุคลากรทุกส่วนงานขับเคลื่อนองค์กร มุ่งสู่ National e-payment โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธ.ออมสิน นำเสนอภาพลักษณ์องค์กรสู่ GSB New Era

ในวาระการดำรงตำแหน่งครบ 1 ปี 6 เดือน ทีมเศรฐกิจผู้จัดการรายวัน 360 ได้รับเกียรติให้เข้าสัมภาษณ์ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คนที่ 16 “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ซึ่งประกาศพันธกิจให้ออมสินเป็น “ธนาคารของประชาชน” ที่พร้อมส่งเสริมการออม พัฒนา และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมตั้งแต่ระดับฐานราก

“ถึงวันนี้ผมต้องขอบคุณบุคลากรของออมสินทุกท่านที่ร่วมแรง ร่วมฝ่าฟันมาด้วยกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วันนี้ภาพของธนาคารออมสินดูทันสมัยขึ้น แต่ยังคงเป็นธนาคารที่ทุกคน “เข้าถึง” สัมผัสได้ โจทย์ที่ผมตั้งไว้ ณ วันที่เข้ามาร่วมงานกับทุกคนคือ ออมสินยังคงเป็น “ธนาคารแห่งการออม” ที่พร้อมจะสร้างความสุข สร้างความมั่นคง และอนาคตที่ดีให้แก่ทุกคนในประเทศไทย

ธนาคารออมสิน เป็นธนาคารที่มีเงินออมมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย การที่เรามีเงินมากเราก็มีภาระด้านดอกเบี้ย ดังนั้น เราต้อง “ทำเงินให้งอกเงย” เราจึงก้าวเข้ามาปรับรูปแบบการปล่อยสินเชื่อให้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากเราต้องบริการคนทุกระดับตั้งแต่ฐานราก จนถึงผู้มีรายได้สูง ผมจึงแบ่งลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ และ 14 กลุ่มย่อย เพื่อให้สามารถศึกษาพฤติกรรม ความต้องการของลูกค้าได้อย่างชัดเจน และสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินเข้าไปตอบสนองได้ตรงต่อความต้องการ เรามีลูกค้าที่เป็นเด็กถึง 30% และผู้สูงอายุวัยเกษียณอีก 70% ถ้าเราเก็บกลุ่มลูกค้าตรงกลางคือ วัยรุ่น วัยทำงานได้หมดเราก็จะสามารถรักษาลูกค้าให้อยู่กับเราได้ตลอดชีวิต คุณคิดดูสิเป็นลูกค้าออมสินยาวไปกว่า 60 ปี เรามีผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ครบ



“ชาติชาย” ขยายข้อดีความเป็น “ธนาคารของรัฐบาล” ว่า สามารถดำเนินธุรกิจได้หลากหลายกว่าธนาคารพาณิชย์ “ทุกวันนี้ผมยังไม่ได้เริ่มอะไรใหม่ๆ เลย ผมแค่หยิบทุกอย่างที่ธนาคารออมสินมีเป็น “ทุน” อยู่แล้วมาจัดระบบให้คนนอกมองเห็นมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของออมสินมีทุกประเภท เรารับฝากเงิน ปล่อยสินเชื่อ มีประกันชีวิตซึ่ง ธ.พาณิชย์ทำไม่ได้ แต่ออมสินทำได้ มีพันธบัตร มีสลากออมสิน บัตรเครดิต การทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดนี่ออมสินทำอยู่แล้ว พนักงานทุกคนมีความชำนาญอยู่แล้ว ผมเพียงแค่มาจัดรูปแบบการ “นำเสนอ” ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้ชัดเจนขึ้น ผมใช้งบประมาณการทำงานเท่าเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอใหม่ให้เกิดมุมมองใหม่เท่านั้น”
 
ในตอนนี้ทีมเศรษฐกิจผู้จัดการ 360 รวบรวมพัฒนาการตลอด 1 ปี ของธนาคารออมสินมานำเสนอ เพื่อให้ติดตามในตอนต่อไปว่า ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนที่ 16 “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” สร้างพลังให้บุคลกรออมสินร่วมขับเคลื่อนองค์กรให้ “ก้าวไกล” ได้อย่างไร

เริ่มกันที่ภารกิจหลักของธนาคารแห่งการออม ธ.ออมสิน ก้าวเข้าไปสร้างวินัยทางการเงินให้แก่เยาวชนด้วยการนำธนาคารเข้าไปไว้ในโรงเรียน โดยใช้ชื่อ “ธนาคารโรงเรียน” เปิดโลกการเรียนรู้ให้เยาวชนบริหารการเงินตั้งแต่วัยเยาว์ สร้างวินัยทางการเงินให้แก่เด็กผ่านใช้การสื่อสารการตลาดแบบผสมผสาน (IMC) โดยพัฒนาสื่อรูปแบบใหม่ๆ เช่น e-Channel, Social Media และ Social Network เช่น ภาพยนตร์โฆษณาเน้นย้ำภาพลักษณ์แบรนด์ออมสิน YouTube และสติกเกอร์ไลน์ “น้องออมจัง กับ พี่ตังค์ตรึม” เป็นต้น  

ขณะเดียวกัน ก็รุกเข้าสู่ประชาชนระดับตำบล ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) แก่ลูกค้ากลุ่มรายย่อย และฐานราก ซึ่งตลอดปี 2558 ดำเนินการอบรมไปแล้วกว่า 10,000 คน และจะจัดกิจกรรมดังกล่าวต่อไป ควบคู่กับการดำเนินการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการสถาบันการเงินชุมชนไปแล้ว 1,032 แห่ง จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1,000 แห่ง และในปี 2559 มีแผนพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการสถาบันการเงินชุมชนอีก 1,000 แห่ง

เมื่อเริ่มออมเงินตั้งแต่วัยเยาว์ ก้าวต่อไปของชีวิตคือ “การทำงาน” หนึ่งในวิสัยทัศน์ของธนาคารออมสิน คือ การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างความสุข และอนาคตที่มั่นคงของประชาชน ธ.ออมสิน จึงมุ่งส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่มีแนวความคิดสร้างสรรค์ มีศักยภาพในการต่อยอดสินค้าจากภูมิปัญญาไทย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพได้ในอนาคต ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับการอบรมเสริมสร้างทักษะด้านต่างๆ จากธนาคารออมสิน ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุน ด้านการตลาด การสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงได้เรียนรู้ ประสบการณ์การทำธุรกิจจากนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรงในสาขาอาชีพต่างๆ ไปต่อยอดแนวคิดของตนให้ก้าวหน้าต่อไป

อีกมุมหนึ่งของชีวิต ประชาชนต้องการ “เครดิต” ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินด้านต่างๆ ทั้งสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเพื่อธุรกิจ ตลอดปี 2558 ที่ผ่านมา ธนาคารออมสิน พัฒนาการให้บริการบัตรเครดิตของธนาคาร เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าอย่างครบวงจร ตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มทุกวัยตามยุคสมัยครอบคลุมลูกค้า 3 กลุ่ม ได้แก่

1.บัตรเครดิตธนาคารออมสิน เพรสทีจ (GSB Prestige Credit Card) บัตรเครดิตสำหรับกลุ่มลูกค้า High End,

2.บัตรเครดิตธนาคารออมสิน พรีเชียส (GSB Precious Credit Card) สำหรับกลุ่มลูกค้า Middle Income ที่มีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาทขึ้นไป

3.บัตรเครดิตธนาคารออมสิน พรีเมียม (GSB Premium Credit Card) บัตรเครดิตสำหรับลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือน 15,000 บาทขึ้นไป หรือกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำงาน/มีเงินเดือนประจำ

ควบคู่กับการพัฒนาการบริการด้านสินเชื่อ โดยแบ่งเป็น - สินเชื่อ SMEs Startup สำหรับผู้ประกอบการระยะเริ่มต้น (Start Up Stage) - สินเชื่อแก่กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก - สินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อย - สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SMEs - สินเชื่อบุคคลรายย่อย - สินเชื่อเคหะ ตลอดจนสินเชื่อแก่หน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ

“ชาติชาย” ยืนยันว่า นโยบายการให้สินเชื่อของธนาคารฯ ยังคงดำรงสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยอยู่ที่ 93% ขณะที่สินเชื่อรายใหญ่อยู่ที่ 7% สินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงมาจากการปล่อยสินเชื่อที่เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยสินเชื่อคงเหลือ ณ 31 มี.ค.59 อยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท ลดลง 0.9% จาก 1.91 ล้านล้านบาท ส่วน NPL ไตรมาส 1 นั้นเพิ่มขึ้นเป็นไปตาม Seasonal โดยในไตรมาส 2 คาดว่าจะทรงตัว และจะลดลงในช่วงไตรมาส 3-4

อย่างไรก็ตาม จากการที่ธนาคารฯ มุ่งให้ความสำคัญต่อการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างรัดกุม และผ่อนปรนตามความเหมาะสม โดยเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ สอดคล้องต่อปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างสมดุล โดยได้ดำเนินการควบคู่กันด้วยการปรับปรุงกระบวนการให้สินเชื่อใหม่อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ถือเป็นการทำงานอย่างหนักของผู้บริหาร และพนักงาน จนทำให้ปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพทยอยปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้อัตราส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ปรับลดลงจนถึงสิ้นปี 2558 ลดเหลือเพียง 1.80% ของสินเชื่อรวม

ส่วนงานขับเคลื่อนองค์กรมุ่งสู่ National e-payment “ชาติชาย” เน้นปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัย คล่องตัว และลดข้อผิดพลาด นอกจากนี้ ได้เร่งพัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูลลูกค้า รวมถึงพัฒนาระบบการวิเคราะห์ (Data Analysis) เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในยุค Internet และ Smart Device ให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการรับบริการจากธนาคาร เช่น Internet/Mobile Banking, Payment Online และวางระบบงานรองรับ Multi Channel และ e-Channel เป็นต้น

ผลงานที่โดดเด่นชิ้นหนึ่งของธนาคารออมสิน คือ “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน” ซึ่งมีการออกแบบ และจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (Grassroots Economic Sentiment Index : GSI) ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความรู้สึกของประชาชนในระดับฐานราก (หรือกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท) ที่มีต่อเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยหากค่าดัชนีสูงกว่าระดับ 50 แสดงว่าประชาชนในระดับฐานรากมีความเห็นว่าภาวการณ์ด้านนั้นๆ จะ “ดีขึ้นหรืออยู่ในระดับที่ดี” ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากค่าดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 แสดงว่าประชาชนในระดับฐานรากมีความเห็นว่าภาวการณ์ด้านนั้นๆ จะ “แย่ลงหรืออยู่ในระดับที่ไม่ดี”

“เราทำดัชนี GSI ขึ้นมาให้การสนับสนุนงานวิจัยเชิงลึกด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนให้บริการข้อมูลข่าวสารและผลการวิเคราะห์วิจัย โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นหน่วยงาน Think Tank ด้านเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เพื่อให้ธนาคารออมสิน และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ใช้ติดตามภาวะเศรษฐกิจฐานราก และใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับรู้ปัญหา และสามารถหาแนวทางในการป้องกัน/แก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที”

ส่งท้ายด้วยการประชุม “ออมสินโลก” ครั้งที่ 23 ประจำปี 2559 - WSBI Annual Meetings 2016 ซึ่งธนาคารออมสิน ได้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร หลังการประชุม “ชาติชาย” ได้นำแนวคิดกลับมาประชุมวางแนวทางการเพิ่มขอบข่ายของการทำธุรกรรมของ "แบงก์ดิจิตอล" ทั้ง ฟินเทค, สตาร์ทอัป และการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเพย์เมนต์ ซึ่งธนาคารออมสินเองก็จะต้องปรับเปลี่ยนยกระดับให้ทันต่อการปฏิวัติไปสู่ยุคของดิจิตอล โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นธนาคารดิจิตอล ซึ่งเป็นความท้าทายของธนาคารทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

“แม้เราเชื่อว่า ดิจิตอล เทคโนโลยี จะสามารถช่วยพัฒนาให้มีความทันสมัย ประชาชนสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา แต่ออมสินเราวางลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลาง ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และการบริการจะต้องมีการปรับปรุงเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าของเราให้ดีที่สุด การดำเนินงานของธนาคารออมสินที่ผ่านมา เรามุ่งมั่นปรับปรุงเรื่องการเงินจากเรื่องของเด็กๆ ไปสู่ประชาชนคนไทยทุกคน โดยทำให้เข้าถึงทุกหมู่บ้านทุกชุมชนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ เราได้มีการเปิดตัวสินค้า และนวัตกรรมที่หลากหลาย รวมทั้งการบริการอย่างเต็มรูปแบบเพื่อสนองตอบความต้องการ และความคาดหวังของลูกค้า ซึ่งเรายังมีการขยายขอบข่ายสาขา และหน่วยบริการให้ครอบคลุมไปทุกภาคส่วนของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่บริการของธนาคารพาณิชย์ยังเข้าไปไม่ถึง ซึ่งเป็นการยกระดับหลังจากมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยเป็นการสร้างหลักประกัน และสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนในทุกชุมชนทุกแห่งของประเทศให้มีความเท่าเทียม และเพียงพอต่อการเข้าถึงในสิ่งอำนวยความสะดวกของการให้บริการทางเงิน ที่ปัจจุบันธนาคารออมสินมีสาขาที่ให้บริการอยู่ทั่วประเทศทั้งหมด 1,045 สาขา”


กำลังโหลดความคิดเห็น