กสิกรฯ เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน มิ.ย.59 วูบต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจาก ปชช.กังวลปัญหาค่าครองชีพ และภาระหนี้สิน ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยกดดันต่อภาพการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลัง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) และดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ยังคงปรับตัวลดลงติดต่อกันตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา โดยในเดือน มิ.ย.59 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 42.5 และ 43.3 ตามลำดับ สะท้อนความความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต โดยเฉพาะประเด็นด้านสถานการณ์ราคาสินค้า และค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมไปถึงภาระหนี้สิน ซึ่งมุมมองของครัวเรือนที่เต็มไปด้วยความกังวลนี้จะเป็นปัจจัยกดดันต่อภาพการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลัง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เพื่อเป็นการประคับประคองภาพการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน มาตรการของภาครัฐในระยะต่อไป อาจจะมุ่งเน้นไปยังกลุ่มที่มีความอ่อนไหวสูงต่อปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงภาวะการจ้างการงานภายในประเทศ หรือการผ่อนคลายภาระหนี้สินในระยะสั้นเพื่อบรรเทาภาวะตึงตัวทางด้านรายได้ให้แก่กลุ่มฐานรากที่เป็นกำลังสำคัญของการบริโภคภาคเอกชน
เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งแรกของปี 59 ที่ผ่านมา ยังคงเปราะบาง และเต็มไปด้วยความเสี่ยง ส่งผลให้การส่งออกหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน และคาดว่าตลอดทั้งปี 2559 จะหดตัวที่ 2.0% ประกอบกับการส่งสัญญาณของปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะช้าลงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก
ขณะที่ราคาสินค้าในประเทศก็ปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเป็นผลจากราคาอาหาร และเครื่องดื่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัญหาภัยแล้งในช่วงก่อนหน้านี้ สวนทางกับรายได้ครัวเรือนที่ยังเผชิญแรงกดดันอยู่ โดยเฉพาะภาคเกษตรที่แม้ว่าผลกระทบจากภาวะภัยแล้งจะบรรเทาลง แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยกับรายได้ที่สูญเสียไปในช่วงก่อนหน้า ทำให้ภาครัฐต้องมีมาตรการออกมาประคับประคองสถานการณ์รายได้ครัวเรือนเกษตรในระยะนี้
โดยมุมมองของครัวเรือนมีความระมัดระวังมากขึ้นต่อภาวะการดำรงชีพในปัจจุบัน สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นครัวเรือน (KR-ECI) ประจำเดือน มิ.ย.59 ที่ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 42.5 จากระดับ 42.7 ในเดือน พ.ค.59 โดยครัวเรือนมีมุมมองที่กังวลเพิ่มมากขึ้นต่อสถานการณ์ราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาอาหาร และเครื่องดื่มที่ปรับตัวสูงขึ้นจากผลของภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า และราคาน้ำมันขายปลีกที่ขยับขึ้นตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมไปถึงมีความกังวลต่อภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ และภาระหนี้สินที่มีความกังวลเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย.59 โดยเฉพาะครัวเรือนในกลุ่มฐานรากที่ยังคงมีความเปราะบางในสถานะทางการเงินจากการก่อหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย หรือรถยนต์
ขณะที่ดัชนีองค์ประกอบที่สะท้อนมุมมองต่อรายได้ และเงินออมในเดือน มิ.ย.59 กลับปรับตัวดีขึ้นมาที่ 49.4 และ 46.1 จากระดับ 47.2 และ 45.4 ในเดือนก่อนหน้าตามลำดับ สะท้อนความกังวลที่ลดลงในเรื่องรายได้และเงินออมของครัวเรือน โดยในประเด็นของรายได้นี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำครึ่งปีของหลายองค์กรในเดือน มิ.ย.ส่งผลไปถึงสถานการณ์เงินออมที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนยังมีพฤติกรรมการออมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือน พ.ค.59 โดยลดสัดส่วนการถือครองเงินสด และเปลี่ยนเป็นการถือครองหุ้นสามัญ และทองคำในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เป็นเพราะพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าของภาคครัวเรือน (Search for Yield) ในช่วงความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดทองคำ หลังผลการลงประชามติ Brexit ออกมาผิดแผกจากการคาดการณ์ของตลาด
ส่วนดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สะท้อนมุมมองครัวเรือนที่ยังเต็มไปด้วยความกังวลกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 43.3 จากระดับ 44.1 ในเดือน พ.ค.59 แสดงถึงความกังวลต่อภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ราคาสินค้าที่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาอาหาร และเครื่องดื่ม รวมไปถึงค่าใช้จ่าย และภาระหนี้สินต่างๆ ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 59 โดยเฉพาะภาระหนี้สินในหมวดที่อยู่อาศัยที่ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ อาทิ โครงการบ้านประชารัฐ โครงการบ้าน ธอส.เพื่อข้าราชการ