“ซีไอเอ็มบี-รวงข้าว” มองราคาพลังงานปรับตัวลดลงในช่วงนี้ ทั้งไฟฟ้า และน้ำมัน ถือเป็นปัจจัยบวกช่วยพยุง ศก. หนุนกำลังซื้อกลุ่มคนระดับกลาง และคนระดับบน แถมมีส่วนช่วยลดแรงกดดันต่อต้นทุนของผู้ประกอบการและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งผลในส่วนหนึ่งก็สะท้อนผ่านมาที่มุมมองของครัวเรือนที่มีภาพในเชิงลบลดลงต่อสถานการณ์ราคาสินค้า และภาระค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ที่ไม่รวมหนี้สิน ขณะที่ดัชนี ศก.ภาคครัวเรือนมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง ผลสำรวจในเดือน พ.ย. พุ่งสูงสุดในรอบ 7 เดือน
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กำลังซื้อของประชาชนในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนระดับล่าง โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่มีกำลังซื้อหดหาย และชะลอลงจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัว และปัญหาภัยแล้ง
ขณะที่กลุ่มคนระดับกลางและบนยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัญหาภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่สูงมากนัก และยังมีรายได้สม่ำเสมอ ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลง ช่วยให้รายจ่ายลดน้อยลง และหนุนกำลังซื้อให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขับเคลื่อนได้ขณะนี้มาจากกำลังซื้อของกลุ่มคนระดับกลาง และบนที่ยังพยุงเศรษฐกิจไว้
ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาวะความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาที่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ 45.0 ในเดือน พ.ย.58 จากระดับ 44.3 ในเดือน ต.ค.58 ท่ามกลางความคาดหวังของภาคครัวเรือนต่อผลในเชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยประกาศออกมาจากอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การปรับตัวลงของราคาพลังงานในประเทศ (ทั้งในส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าไฟฟ้า) ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ก็มีส่วนช่วยลดแรงกดดันต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งผลในส่วนหนึ่งก็สะท้อนผ่านมาที่มุมมองของครัวเรือนที่มีภาพในเชิงลบลดลงต่อสถานการณ์ราคาสินค้า และภาระค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ที่ไม่รวมหนี้สิน
โดยผลการสำรวจเดือน พ.ย.2558 ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงมีความคาดหวังต่อภาวะการครองชีพที่ดีขึ้นในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ 47.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน จากระดับ 46.7 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่ดีสำหรับการฟื้นตัวของการบริโภคในช่วงปลายปีนี้ ถึงต้นปีหน้า สอดรับต่อช่วงเวลาการปล่อยแคมเปญเพิ่มสีสัน และกระตุ้นยอดขายของภาคเอกชนในช่วงเทศกาล
ขณะเดียวกัน ก็มีความคาดหวังว่าเม็ดเงินของภาครัฐทั้งจากงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นหลากหลายรูปแบบน่าจะเริ่มทยอยเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงหลายเดือนนับจากนี้ ขณะที่ความคาดหวังด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากค่าตอบแทนในการทำงานที่อาจจะได้รับในช่วงสิ้นปี (และในช่วงต้นปีหน้า) ยังมีส่วนช่วยทำให้ดัชนีมุมมองต่อสถานการณ์รายได้ของภาคครัวเรือนในผลสำรวจฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น (ดัชนีมุมมองด้านรายได้คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ขยับขึ้นมาที่ 49.7 จาก 49.2 ในเดือนก่อนหน้า) และช่วยลดทอนความรู้สึกในเชิงลบต่อภาระหนี้สินและภาระค่าใช้จ่ายที่อาจจะเพิ่มขึ้นตามช่วงเทศกาลของครัวเรือนบางส่วนลง อย่างไรก็ดี สถานการณ์นี้อาจเป็นผลเพียงชั่วคราว ซึ่งยังคงต้องจับสัญญาณความต่อเนื่องต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจจากผลสำรวจ คือ ครัวเรือนหลายๆ ส่วนยังคงมีความกังวลต่อภาระค่าใช้จ่ายรายการพิเศษที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่สัญญาณที่ดีขึ้นจากมุมมองด้านรายได้ตามช่วงเวลาของการจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานของบางหน่วยงาน ก็เข้ามาช่วยบรรเทาความกังวลในส่วนนี้ลง ขณะที่สัญญาณการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพใหญ่ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ภาคครัวเรือนมีความคาดหวังต่อสถานการณ์การครองชีพที่ดีขึ้นในช่วงปีข้างหน้า
ท่ามกลางความผันผวนของตัวแปรทางเศรษฐกิจ ซึ่งย่อมจะมีผลต่อเนื่องไปยังสถานการณ์รายได้ของครัวเรือนหลายๆ ระดับ ทำให้โจทย์สำคัญที่รออยู่ในช่วงปี 2559 จึงอยู่ที่การประคองความเชื่อมั่น และกำลังซื้อของภาคครัวเรือนให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเร่งผลักดันให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเกิดผลเชิงรูปธรรมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในเบื้องต้นว่า แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปี 2559 มีโอกาสที่จะเติบโตได้ใกล้เคียง หรือดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสถานการณ์การบริโภคในปี 2558 ซึ่งคาดว่า อาจสามารถขยายตัวที่ 2.1%