xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “เบอร์มือถือ” จะมาแทนที่ “บัญชีธนาคาร”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ชีวิตนี้เชื่อว่าเกือบทุกคนคงต้องมี หรือเคยมีบัญชีธนาคาร ในวัยเด็กพ่อแม่อาจพาไปเปิดบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารออมสิน ในช่วงที่เป็นนักศึกษา บัตรประจำตัวนักศึกษาก็ผูกเข้ากับบัญชีธนาคาร หรือไม่อย่างนั้นหากทำงานเป็นข้าราชการหรือพนักงานประจำ ก็จะต้องมีบัญชีออมทรัพย์ที่เรียกว่า บัญชีเงินเดือน (Payroll) เพื่อรับเงินเป็นประจำทุกเดือน

ในอดีตสาขาของแต่ละธนาคารต่างก็มีระบบเลขที่บัญชีโดยใช้รหัสสาขานำหน้าไม่ซ้ำกัน เพื่อให้ออกเลขที่บัญชีเป็นของตัวเองได้ แต่เมื่อธนาคารพาณิชย์ชั้นนำต่างเร่งขยายสาขานับพันแห่ง ธนาคารชั้นนำบางแห่ง เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย จึงตัดปัญหาด้วยการออกรหัสสาขาเสมือน (Dummy Branch) แล้วออกเลขที่บัญชีจากส่วนกลาง

ส่วนธนาคารกรุงเทพ ธนาคารแห่งแรกที่เปิดสาขาย่อย (Micro Branch) ตามห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย แม้จะมีรหัสสาขาเป็นหลักพันแล้วก็ตาม แต่ก็ใช้รหัสสาขาแบ่งกับสาขาอื่น เช่น สาขามหาวิทยาลัยรามคำแหง เลขที่บัญชี 3 ตัวแรกเหมือนกับสาขาเดอะ คริสตัล เป็นต้น

แต่ธนาคารกสิกรไทย เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2558 ได้ปรับปรุงระบบไอทีหลักของธนาคารใหม่หมด จากระบบเดิมที่ใช้มานาน 30 ปี ทำให้ลูกค้าที่เปิดบัญชีใหม่ จากเดิมเลขที่บัญชีจะเป็นรหัสสาขา 3 หลัก ประเภทบัญชี 1 หลัก กลายเป็นการรันเลขที่บัญชีใหม่ขึ้นมา โดยไม่อิงกับรหัสสาขาที่เปิดบัญชีอีกต่อไป แต่สำหรับลูกค้าที่มีอยู่เดิมจะไม่ได้รับผลกระทบ

สมคิด จิรานันตรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เคยสัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ Blognone.com ว่า ระบบใหม่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น มีสาขาได้ไม่จำกัด การเปิดบัญชีแล้วขอย้ายสาขา ระบบเดิมต้องมีเลขบัญชีใหม่ แต่ระบบใหม่ใช้เลขบัญชีเดิมได้เลย คาดว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การออกเลขที่บัญชีไม่อิงกับรหัสสาขาเฉกเช่นในอดีต

ที่ผ่านมาลูกค้าทุกธนาคาร หากต้องการย้ายสาขาในกรณีที่ย้ายภูมิลำเนา เช่น ย้ายจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด จะต้องปิดบัญชีที่กรุงเทพฯ แล้วเปิดบัญชีใหม่ที่ต่างจังหวัด แต่ความเห็นส่วนตัว หากยกเว้นค่าธรรมเนียมได้ เหมือนธนาคารทหารไทย ที่ฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงินทั่วประเทศโดยไม่มีค่าธรรมเนียมแล้ว การขอย้ายสาขาอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นเสมอไป

สำหรับธนาคารพาณิชย์อื่น เนื่องจากจำนวนสาขายังมีไม่ถึง 1,000 แห่ง เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต ธนาคารทหารไทย ฯลฯ เพราะฉะนั้น ยังคงอิงรหัสสาขาในการออกเลขที่บัญชีใหม่อยู่ แต่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ได้เปลี่ยนมาออกเลขที่บัญชีแบบใหม่ ที่ไม่ได้อิงรหัสสาขาอีกต่อไป เช่น ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารยูโอบี ฯลฯ

วิวัฒนาการธุรกรรมทางการเงินในบ้านเรา จากเดิมที่ทำผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ทั้งฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน กระทั่งธนาคารพาณิชย์ชั้นนำหันมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่เครื่องเอทีเอ็ม เครื่องฝากเงินสด กระทั่งธนาคารเอเชีย (ปัจจุบันควบรวมกิจการเป็นธนาคารยูโอบี) ให้บริการอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งเป็นแห่งแรก เมื่อปี 2543 กระทั่งธนาคารชั้นนำต่างก็มีบริการนี้

ปัจจุบันการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตพัฒนามาถึงยุคโทรศัพท์สมาร์ทโฟน มีผู้ใช้มือถือและโซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำต่างๆ ออกแอปพลิเคชั่นสำหรับบริการธนาคารบนมือถือมากขึ้น และได้พัฒนาการโอนเงินให้สะดวกต่อการค้าขายผ่านอินเตอร์เน็ต เช่น มีไฟล์ภาพสลิปโอนเงินผ่านแอปพลิเคชั่นไว้ส่งไลน์หรืออินบอกซ์ในเฟซบุ๊ก เป็นต้น

แน่นอนว่านอกจากจะสามารถโอนเงิน เติมเงิน จ่ายบิลแล้ว ปัจจุบันยังพัฒนาไปไกลถึงขั้นใช้เบอร์มือถือ ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าจดจำง่ายกว่าเลขที่บัญชี หรือใครที่จำไม่ได้ ก็สามารถค้นหาในรายชื่อผู้ติดต่อ (Contact List) บนมือถือได้โดยสะดวก ใช้เบอร์มือถือเหล่านี้โอนเงินแทนเลขที่บัญชีธนาคาร

อาจเรียกได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ เราคงไม่จำเป็นต้องจำเลขที่บัญชีเพื่อโอนเงินหากันอีกต่อไป



สมัยก่อน การโอนเงินโดยใช้เบอร์มือถือ จะจำกัดอยู่เพียงแค่กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) โดยมีผู้ให้บริการหลักอยู่ 2 ราย ได้แก่ เอ็มเปย์ (mPAY) เฉพาะลูกค้าเอไอเอส และ ทรูมันนี่ (TrueMoney) เฉพาะลูกค้าทรูมูฟเอช แต่ก็จำกัดทำธุรกรรมเฉพาะเติมเกมส์ออนไลน์ จ่ายค่าสาธารณูปโภค บัตรเครดิต สินเชื่อ จ่ายบิล และเติมเงินมือถือค่ายของตัวเองเท่านั้น

แต่ในระยะหลังพบว่า ทั้งเอ็มเปย์ และทรูมันนี่ ได้ลดข้อจำกัดให้ลูกค้ามือถือทุกค่ายสามารถใช้บริการกระเป๋าเงินทั้งสองเจ้าได้แล้ว และในเร็วๆ นี้ ดีแทคจะเปิดตัวแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า "แจ๋ว วอลเลท" ที่พัฒนาโดยบริษัท เพย์สบาย (PAYSBUY) รวมทั้งขณะนี้ยังสามารถโอนเงินจากบัญชีกระเป๋าเงินเข้าแอปพลิเคชั่นข้ามค่ายมือถือได้อีกด้วย

นอกจากนี้ เอ็มเปย์ได้ร่วมกับธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ออกบัญชีเงินฝาก Beat Banking โดยรวมบัญชีออมทรัพย์กับกระเป๋าเงินเอ็มเปย์เข้าด้วยกัน โดยสามารถฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ผ่านเลขที่บัญชีตามปกติ และในกรณีต่างธนาคาร ยังเติมเงินเอ็มเปย์โดยใช้เบอร์มือถือ ผ่านเครื่องเอทีเอ็ม 8 ธนาคาร เพื่อเข้าบัญชีได้ฟรี 10 ครั้งต่อเดือนอีกด้วย



ข้ามมาที่ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ ธนาคารกสิกรไทยเป็นเจ้าแรกที่พัฒนาระบบโอนเงินผ่านเบอร์มือถือ กับแอปพลิเคชั่น K-Mobile Banking Plus โดยทำรายการโอนผ่าน Contact List แต่ก็ยังจำกัดเฉพาะเบอร์โทรปลายทางที่ตั้งค่าบัญชี “เพิ่มบริการรับโอนเงินโดยระบุเบอร์มือถือ” ไว้แล้ว ถึงจะสามารถรับเงินโอนโดยใช้เบอร์มือถือแทนเลขที่บัญชีได้

อีกด้านหนึ่ง ในปีนี้ธนาคารได้ร่วมมือกับเอไอเอส เปิดบริการโอนเงินผ่าน K-Mobile Banking Plus รับเงินที่ mPAY STATION กว่า 4,500 สาขาทั่วประเทศ โดยไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร ระบบจะส่ง SMS แจ้งรหัสรับเงิน REF1 แก่ผู้รับปลายทาง และผู้โอนจะได้รับเลข REF2 เปรียบเสมือนรหัสส่วนตัว เพื่อแจ้งให้ผู้รับปลายทางไปรับเงินเพื่อความปลอดภัย

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ให้บริการแอปพลิเคชัน UP 2 ME เป็นกระเป๋าเงินที่ผูกกับบัญชีธนาคาร แยกจากบริการ SCB EASY NET ต่างหาก ใช้สำหรับจ่ายเงิน เติมเงิน โอนเงิน และรับเงินโดยใช้เบอร์มือถือ ก็มีฟังก์ชั่น “โอนให้ Contact” แต่ก็ยังจำกัดเฉพาะเบอร์มือถือที่ใช้แอปพลิเคชั่น UP 2 ME ที่จะแสดงโดยอัตโนมัติเท่านั้น



ในภายหลังธนาคารกรุงเทพ ได้ให้บริการแอปพลิเคชัน Bualuang M Banking นอกจากจะเพิ่มฟังก์ชั่นโอนเงินผ่านเบอร์มือถือได้โดยไม่ต้องใช้เลขบัญชีแล้ว ในกรณีที่เบอร์มือถือปลายทางไม่ได้ผูกกับแอปพลิเคชั่น ก็ได้พัฒนาบริการใหม่ที่ชื่อว่า Bualuang GetMoney ทำรายการผ่านเว็บไซต์ที่ออกแบบมาพอดีกับทุกหน้าจอคอมพิวเตอร์ และมือถือ

โดยผู้รับปลายทางจะได้รับ SMS รหัสรับเงิน (Cash Code) เพื่อทำรายการรับเงินผ่านเว็บไซต์ กรณีเลือกบัญชีธนาคารกรุงเทพจะไม่มีค่าธรรมเนียม แต่หากเลือกบัญชีธนาคารอื่น จะคิดค่าธรรมเนียม 25-35 บาท เหมือนการโอนเงินข้ามธนาคาร โดยหักจากยอดเงินที่ได้รับ โดยมีธนาคารปลายทางให้บริการ 11 แห่ง

เป็นไปได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำอาจพัฒนาการโอนเงิน โดยใช้เบอร์มือถือแทนเลขที่บัญชี ผ่านช่องทางอื่นก็เป็นได้ เช่น ผ่านตู้เอทีเอ็ม จากเดิมมีเฉพาะกรณีเติมเงินเอ็มเปย์ โดยใช้เบอร์มือถือที่มีบัญชี Beat Banking ก็อาจจะเป็นการโอนเงินไปยังบัญชีผู้รับธนาคารเดียวกัน โดยใช้เบอร์มือถือแทนเลขที่บัญชีก็ได้

อย่างไรก็ตาม การโอนเงินไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดก็ตาม ยังมีข้อจำกัดเรื่องค่าธรรมเนียม และระยะเวลาได้รับเงินโอน เช่น ปกติถ้าจะโอนเงินจากกระเป๋าเงินเอ็มเปย์ หรือทรูมันนี่ เพื่อเข้าบัญชีธนาคาร จะเสียค่าธรรมเนียม 15 บาทต่อรายการ และส่วนใหญ่ต้องรอวันทำการถัดไป เงินถึงจะเข้าบัญชี จึงทำให้มีผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่ม เช่น คนที่ใช้บัตรเสมือนซื้อของออนไลน์

นอกจากนี้ ความปลอดภัยในการโอนเงินผ่านเบอร์มือถือ หากเป็นเบอร์ที่อยู่ใน Contact List ยังถือว่าตรวจสอบได้ แต่หากเป็นเบอร์ปลายทางที่ไม่รู้จัก คงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง เพราะขนาดเลขที่บัญชีธนาคารยังมีกรณีเปิดบัญชีแทนกันเพื่อก่ออาชญากรรม เช่น หลอกโอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม หรือ ซื้อสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตแต่ไม่ได้รับสินค้าแล้วติดต่อผู้ขายไม่ได้

ถึงกระนั้น ถือเป็นแนวโน้มที่ดี ที่การทำธุรกรรมในอนาคตอันใกล้ มือถือซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีไว้ข้างกาย จะเข้ามามีบทบาททางการเงินมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ รองรับการค้าขายเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศในอนาคตอันใกล้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้จะต่อยอดบริการที่มีอยู่เข้ากับธุรกิจ หรือการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไรต่างหาก.




Review : mPAY Payment Gateway ให้ร้านค้าออนไลน์มือโปร (จริงหรือ?)

สมัยก่อน หากไม่ใช่ร้านค้าออนไลน์รายใหญ่ๆ การซื้อขายมักจะนิยมให้ลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารแล้วส่งหลักฐานโอนเงิน ก่อนรอรับสินค้า ซึ่งถือเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ด้วยเทคโนโลยีการชำระเงินที่พัฒนาขึ้น ร้านค้าออนไลน์สามารถเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าชำระเงินได้ เสมือนร้านค้าออนไลน์ชั้นนำ

เมื่อเอไอเอส ผู้ให้บริการระบบกระเป๋าเงิน mPAY ได้ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย เปิดบริการที่มีชื่อว่า mPAY Payment Gateway เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ค้าออนไลน์ โดยมีทั้งบริการสร้างลิงค์รับชำระ สำหรับผู้ค้าที่ไม่อยากเขียนโปรแกรมให้ยุ่งยาก, Simple API โค้ตสำหรับระบบตะกร้าสินค้า และเครื่องอ่านบัตรเครดิต mPOS สำหรับผู้ค้าที่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง

กล่าวถึงระบบ "ลิงก์รับชำระ" ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการรับชำระเงิน โดยผู้ใช้ที่สมัครสมาชิกเรียบร้อยแล้วสามารถสร้างรหัสชำระเงินได้ โดยกรอก เลขที่สั่งซื้อ (Order ID.) ที่เรากำหนดเองได้ และจำนวนเงินที่ต้องชำระ เพื่อส่งลิงก์ให้ลูกค้าผ่าน SMS, ไลน์ หรืออินบอกซ์ นำไปชำระเงินผ่านช่องต่างๆ เช่น แอปพลิเคชัน mPAY, เครื่องเอทีเอ็ม, เคาน์เตอร์ห้างสรรพสินค้า

ที่สำคัญ ยังสามารถให้ลูกค้าชำระเงินผ่านบัตรเครดิตทั้ง วีซ่า มาสเตอร์การ์ด เหมือนร้านค้าออนไลน์ชั้นนำได้อีกด้วย



สำหรับการสมัครสมาชิกเบื้องต้น สำหรับสร้างลิงค์ชำระเงิน ร้านค้าออนไลน์ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าเอไอเอส ขอเพียงแค่มีเบอร์โทรศัพท์มือถือเครือข่ายไหนก็ได้ ก็สามารถสมัครได้แล้ว และถ้าเคยสมัครกระเป๋าเอ็มเปย์มาก่อนยิ่งง่ายขึ้น แต่จะต้องส่งเอกสาร เลือกระหว่างรับเงินเข้ากระเป๋าเอ็มเปย์ ได้ 30,000 บาท โอนเงินกลับเข้าบัญชีธนาคารที่ผูกไว้ได้ 90,000 บาทต่อเดือน กับ รับเงินเข้าบัญชี Beat Saving ได้ 500,000 บาทต่อวัน ซึ่งต้องสมัครบัญชี Beat Savings กับธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

แต่ในช่วงแรกหลังการสมัคร จะให้ใช้ได้ 30 วัน เวลาลูกค้าจ่ายเงินค่าสินค้าเข้ามาจะอยู่ในกระเป๋าเงินเอ็มเปย์ได้สูงสุด 10,000 บาท และโอนเข้าบัญชีธนาคารได้ 5,000 บาทต่อเดือน โดยให้ลูกค้าจ่ายเงินค่าสินค้าเฉพาะผ่านแอป mPAY, เคาน์เตอร์ร้านแฟมิลี่มาร์ท ท็อปส์ บิ๊กซี ผ่านเครื่อง ATM 9 ธนาคาร AIS Shop ร้าน Telewit และ mPAY Station เท่านั้น

หากต้องการจะให้ร้านค้าของตัวเองสามารถชำระบัตรเครดิตได้ ต้องส่งเอกสารให้ทางเอไอเอส 2 ฉบับ ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาบัตรประชาชน, เอกสารบันทึกข้อตกลงการเป็นร้านค้าสมาชิก mPAY Gateway และ เอกสารสัญญาการรับชำระด้วยบัตรเครดิตของธนาคารกสิกรไทย ที่แนบมาในอีเมลแจ้งผลการสมัคร

ขึ้นอยู่กับธนาคารจะอนุมัติเป็นกรณีไป ภายใน 15 วัน พูดง่ายๆ คือ สมัครไปแล้วอาจไม่ได้รับการอนุมัติทุกคน แต่หากร้านค้าไหนมีความพร้อมก็ไม่ต้องกลัว

ส่วนค่าธรรมเนียม หากรับชำระด้วยบัตรเครดิต ทางธนาคารและเอ็มเปย์จะคิดค่าธรรมเนียม 3% ของยอดชำระ โดยหักค่าธรรมเนียมออกไปจากยอดเงิน เช่น ยอดลูกค้าชำระ 1,000 บาท ธนาคารจะหักค่าธรรมเนียม 30 บาท ขึ้นอยู่กับว่าทางร้านค้าจะกำหนดผู้ซื้ออย่างไร หากสินค้ามีกำไรมากอาจยกเว้นก็ได้ แต่หากมีกำไรน้อยอาจขอลูกค้าชาร์จเพิ่มอย่างน้อย 3%

โดยสรุปก็คือ หากต้องการให้ลูกค้าชำระค่าสินค้าสะดวกขึ้น มีประโยชน์ขึ้น เช่น ใช้บัตรเครดิตจ่ายไปก่อน หรือต้องการสะสมแต้ม mPAY Payment Gateway ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับร้านค้าออนไลน์ แต่ช่องทางอื่นอย่างเคาน์เตอร์นั้นอาจดูยุ่งยากและผลักภาระค่าธรรมเนียมแก่ลูกค้า แต่ก็เป็นอีกตัวเลือกเพื่อความสะดวกก็เป็นได้.

กำลังโหลดความคิดเห็น