xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีภาวะ ศก.ครัวเรือน ธ.ค.58 ฟื้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนปี 59 ยังมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยดัชนีภาวะ ศก.ครัวเรือนในเดือน ธ.ค.58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนในปี 59 ยังต้องจับตาภัยแล้ง และผลกระทบ ศก.จีน ดังนั้น ความหวังต่อการประคองเส้นทาง ศก.ไทยในภาพใหญ่ และการพลิกฟื้นรายได้ความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนในปีนี้น่าจะอยู่ที่แรงหนุนจากภาครัฐในการเร่งใช้จ่าย และผลักดันมาตรการกระตุ้น ศก.เพิ่มเติม

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินทิศทางการใช้จ่ายของครัวเรือนในปี 2559 โดยยังคงมองว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้อาจจะจำกัดอยู่ในกรอบที่ 1.7-2.5% ซึ่งใกล้เคียง หรือดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสถานการณ์การบริโภคในปี 2558 เนื่องจากการฟื้นตัวของกำลังซื้อ และรายได้ (ในช่วงที่หลายครัวเรือนยังมีภาระหนี้สิน) อาจจะยังไม่เกิดขึ้นครอบคลุมลงไปในครัวเรือนทุกๆ ระดับ

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2559 จากความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศที่ลากยาวข้ามปี เพราะแม้ตัวแปรความเสี่ยงทางเศรษฐกิจดังกล่าวอาจจะยังไม่มีผลโดยตรงในทันทีต่อการใช้จ่าย แต่ผลกระทบในแง่ของความรู้สึก และความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนอาจเริ่มทยอยปรากฏขึ้น เมื่อตัวแปรเหล่านี้มีผลกดดันทิศทางตลาดหุ้น ราคาสินค้าเกษตร สินค้าโภคภัณฑ์ รายได้ของธุรกิจส่งออก รายได้เกษตรกร และมีผลกระทบต่อเนื่องมาที่ภาวะการมีงานทำ และรายได้ของภาคครัวเรือนในท้ายที่สุด

ดังนั้น ความหวังต่อการประคองเส้นทางเศรษฐกิจไทยในภาพใหญ่ และการพลิกฟื้นรายได้ความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนในปีนี้น่าจะอยู่ที่แรงหนุนจากภาครัฐในการเร่งใช้จ่าย และผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาแรงฉุดจากปัจจัยลบดังกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือน ธ.ค.58 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ 45.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน จากระดับ 45.0 ในเดือน พ.ย.58 การขยับขึ้นของดัชนี KR-ECI ตลอดช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 น่าจะช่วยสะท้อนภาพบรรยากาศการฟื้นตัวของการใช้จ่าย และความเชื่อมั่นในภาคครัวเรือนซึ่งได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมเข้ามาเป็นระยะจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จนถึงโค้งสุดท้ายของปีที่มีการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลปีใหม่

ขณะที่ราคาน้ำมัน และพลังงานในประเทศที่ทยอยปรับลดลงตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก นอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในสินค้ากลุ่มนี้ลงแล้ว ยังทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ค่อนข้างทรงตัว (ไม่ขยับสูงขึ้นมาก) ซึ่งอาจถือว่าเป็นผลบวกทางอ้อมต่อครัวเรือนในภาพรวม นอกจากนี้ ภาวะการบริโภค และการครองชีพของครัวเรือนบางส่วนก็ได้รับปัจจัยบวกจากการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีของหลายองค์กรในช่วงปลายปีด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ หากมองในมุมของครัวเรือนจะพบว่า รายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี แม้จะทำให้ภาระของบางครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็น่าจะเป็นรายจ่ายระยะสั้นในช่วงเทศกาล ดังนั้น การปรับตัวลงของดัชนีภาระค่าใช้จ่ายมาที่ 37.0 ในเดือน ธ.ค. (จากระดับ 38.5 ในเดือน พ.ย.) จึงยังไม่น่าจะสะท้อนภาพลบของภาวะการครองชีพของครัวเรือน

ขณะที่ดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มาอยู่ที่ 47.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน จากระดับ 47.0 ในเดือนก่อนหน้า

ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนนี้เพียงลำพังน่าจะสะท้อนสัญญาณที่ดีต่อเนื่องสำหรับการฟื้นตัวของบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มุมมองต่อประเด็นค่าครองชีพในด้านต่างๆ ยังคงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ และมีความอ่อนไหว หากสัญญาณบวกของเศรษฐกิจในภาพใหญ่ยังคงเลื่อนเวลาออกไป
กำลังโหลดความคิดเห็น