xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีภาวะ ศก.ครัวเรือน ต.ค.ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 9 เดือน คาดสถานการณ์ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน ต.ค.58 ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 9 เดือน สอดคล้องต่อสัญญาณ ศก.ที่เริ่มฟื้นตัว ขณะที่มุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ยังประคองสัญญาณบวกได้ต่อเนื่อง สะท้อนว่าสถานการณ์การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนอาจจะผ่านพ้นจุดที่ต่ำที่สุดของปีนี้มาแล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือน ต.ค.58 ขยับขึ้นมาที่ระดับ 44.3 (นับเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน) จากระดับ 43.3 ในเดือน ก.ย.58 โดยดัชนีองค์ประกอบไล่เรียงตั้งแต่มุมมองต่อภาระค่าใช้จ่าย/หนี้สิน รายได้ และเงินออม ขยับขึ้นในทิศทางที่สอดคล้องต่อความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ประกาศออกมาอย่างต่อเนื่องในระหว่างเดือน ขณะที่ความกังวลต่อสถานการณ์ราคาสินค้าก็ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จากผลของราคาน้ำมัน การทำกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ และมาตรการดูแลของกระทรวงพาณิชย์

ขณะที่มุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ยังประคองสัญญาณบวกได้ต่อเนื่อง โดยดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม มาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ที่ 46.7 ในเดือน ต.ค.2558 จากระดับ 46.5 ในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องต่อเครื่องชี้การบริโภคที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และสะท้อนว่า สถานการณ์การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนอาจจะผ่านพ้นจุดที่ต่ำที่สุดของปีนี้มาแล้ว

มุมมองต่อสถานการณ์รายได้ของครัวเรือนที่ดีขึ้น (ดัชนีมุมมองต่อสถานการณ์รายได้ 3 เดือนข้างหน้า ขยับขึ้นมาที่ระดับ 49.2 จาก 48.0 ในเดือนก่อน) อาจสะท้อนความคาดหวังต่อผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจที่น่าจะเริ่มทยอยเกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ภายหลังจากที่ภาครัฐได้เร่งผลักดันมาตรการหลายๆ ส่วนที่มุ่งเป้าในการพลิกฟื้นอุปสงค์ภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการเสริมเม็ดเงินกระจายลงไปในเศรษฐกิจระดับฐานราก เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย และดูแลภาระค่าครองชีพ นอกจากนี้ สถานการณ์รายได้ และกำลังซื้อของครัวเรือนบางส่วนอาจกำลังปรับตัวขึ้นในช่วงสิ้นปี ซึ่งมักจะเป็นช่วงที่บริษัท/หน่วยงานต่างๆ เริ่มมีการจ่ายค่าตอบแทนจากการทำงานในรูปแบบต่างๆ

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า มุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์รายได้ดังกล่าวอาจจะชดเชยความกังวลต่อภาระหนี้สิน และภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมเข้ามาในส่วนอื่นๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางครัวเรือนอาจมีค่าใช้จ่ายพิเศษ เช่น เพื่อการท่องเที่ยว ซื้อของขวัญ และการเลี้ยงฉลองในช่วงเทศกาลปลายปี-ต้นปีหน้า) ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งนั่นก็อาจหมายความว่า ความเชื่อมั่นของครัวเรือนหลายๆ ส่วนอาจจะยังภาพการฟื้นตัวที่ค่อนข้างเปราะบางอยู่ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้สถานการณ์ภาพรวมของการบริโภคภาคเอกชนจะยังไม่กลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนมากนักในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2558 อย่างไรก็ดี สัญญาณที่สะท้อนจากเครื่องชี้การอุปโภคบริโภคบางรายการ ณ ขณะนี้ก็เริ่มมีภาพที่กระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย สอดรับต่อผลสำรวจภาวะการครองชีพของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่า ภาคครัวเรือนมีมุมมองในด้านลบลดลงต่อตัวแปรบางตัวที่เกี่ยวข้องต่อการครองชีพของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น