xs
xsm
sm
md
lg

World Bank คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 2.5% และในปีหน้าจะขยายตัวเป็น 2.6%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เวิลด์แบงก์” คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 2.5% ต่ำสุดในอาเซียน ส่วนในปีหน้าจะขยายตัวได้ 2.6% โดยมองว่า ประเทศไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังมีความมั่นคง การเงิน และการคลังที่เข้มแข็ง แนะรับมือสังคมสูงอายุ เนื่องจากสัดส่วนประชากรวัยทำงานลดลงกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (World Bank) ประจำประเทศไทย เปิดเผยรายงานติดตามเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลก โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ปรับขึ้นจากร้อยละ 2 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกออกมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 3.2 มาจากการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนภาครัฐ เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ส่วนปี 2560 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.6 อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังโตต่ำสุดประเทศในอาเซียน เนื่องจากยังมีแรงต้านและปัจจัยเสี่ยงอีกหลายด้าน ดังนั้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่เกินร้อยละ 3 จนถึงปี 2561 แต่ไม่ถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ท้าทาย คือ เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว โดยปีนี้เติบโตเพียงร้อยละ 2.5 ฟื้นตัวช้ากว่าคาด โดยเฉพาะจีนที่มีสัดส่วนการค้ากับไทยถึงร้อยละ 12 และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังตกต่ำ ส่งผลลบต่อภาคเกษตรของไทย และกระทบให้การส่งออกของไทยปีนี้ติดลบร้อยละ 0.1 เท่าประมาณการครั้งก่อน นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการลงทุนภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ที่อาจจะล่าช้า ซึ่งจะกระทบทำให้เม็ดเงินที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจช้าตามไปด้วย และทักษะแรงงานไทยไม่ตรงกับความต้องการ ทำให้เอกชนยังไม่ขยายการผลิต

นายอูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า สิ่งท้าทายสำหรับประเทศไทย คือ การเตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 7.5 ล้านคนในปีนี้ หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าปี 2583 ประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะมีถึง 27 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ สวนทางกับจำนวนประชากรวัยทำงานของไทยจะลดลงอีกร้อยละ 11 จากเดิมที่มีจำนวน 49 ล้านคนในปี 2559 จะลดลงเหลือ 40.5 ล้านคนในปี 2583 การคาดการณ์ครั้งนี้จะเห็นว่าประเทศไทยมีจำนวนประชากรวัยทำงานลดลงมากที่สุดกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในเอเซียตะวันออก ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพแรงงานจึงมีความสำคัญมาก และควรปฏิรูปสังคมสูงวัยให้มีสุขภาพดี ทั้งด้านบำนาญ การดูแลสุขภาพ และการดูแลผู้สูงวัยระยะยาว เพราะประชากรสูงวัยของไทยมีรายได้ระดับต่ำกว่ามาก หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ หรือเรียกว่าแก่ก่อนรวย

นายอูริค ยังกล่าวถึงผลกระทบกรณีที่อังกฤษลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit โดยระบุว่า ธนาคารโลกเฝ้าติดตามและกำลังวิเคราะห์ผลกระทบดังกล่าว แต่สำหรับประเทศไทยและประเทศเอเชียตะวันออกผลกระทบน้อย เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจเข้มแข็งและมีสัดส่วนการค้าภายในภูมิภาคอาเซียนสูง เชื่อว่าจะสามารถรับผลกระทบได้
กำลังโหลดความคิดเห็น