xs
xsm
sm
md
lg

ชี้อังกฤษออกจากอียูจะกระทบตลาดเงินรุนแรง เงินบาทจะอ่อนค่าแตะ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผลการลงประชามติชาวอังกฤษส่วนใหญ่ต้องการออกจากอียู ส่งผลเงินปอนด์อ่อนค่าต่ำสุดรอบ 31 ปี นักวิเคราะห์เตือนจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินอย่างรุนแรง ส่วนในระยะกลาง และยาว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจยุโรป และประเทศใหญ่ ซึ่งจะลามถึงเศรษฐกิจโลก ส่วนค่าเงินบาทจะอ่อนแตะ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ด้านผลกระทบต่อการค้าไทยมีไม่มาก

การนับคะแนนล่าสุดออกมาว่า ชาวอังกฤษส่วนใหญ่ต้องการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ผลการลงประชามติมีแนวโน้มว่าอังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกอียู ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 31 ปี นักวิเคราะห์เตือนว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับราคาน้ำมันตลาดเอเชียวันนี้ (24 มิ.ย.) ที่ดิ่งลงกว่าร้อยละ 6 ขณะที่ผู้นำหลายประเทศทั่วโลกเตือนว่า การที่อังกฤษออกจากอียูนั้นจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียดิ่งลงไปตามๆ กัน ดัชนีนิกเคอิ ปรับตัวลดลงแล้วถึงร้อยละ 8.30 ส่วนเงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนแสวงหาสกุลเงินที่ปลอดภัยกว่า

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ภาวะตื่นตระหนกผลการลงประชามติของอังกฤษที่สนับสนุนให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปน่าจะเป็นเพียงแค่ระยะสั้น เพราะสิ่งสำคัญที่ต้องติดตาม คือ นโยบายของอังกฤษ และอียูว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร เพราะผลจากทั้ง 2 ฝ่ายใกล้ชิดกันมาก

ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ จะต้องสร้างความสบายใจให้ทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเมือง ถ้าหากนโยบายรัฐบาลไม่มีความชัดเจนจะมีผลกระทบหลายด้านทั้งการค้า และตลาดการเงิน ตลาดทุน โดยเฉพาะจะยิ่งกดดันให้ค่าเงินปอนด์ และยูโรอ่อนค่าลงอีก และจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งถ้าหากอังกฤษออกจากยุโรปจริง คาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าแตะ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนผลกระทบต่อการค้าไทย ยอมรับว่า แม้จะมีสัดส่วนไม่มาก แต่หากค่าเงินปอนด์ และยูโรผันผวนมาก กังวลว่าจะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งอังกฤษ และอียู

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง กล่าวว่า หากประชามติออกมาว่าอังกฤษออกจากอียูจริง ผลกระทบระยะกลาง และยาวน่ากังวล อาจกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกที่ยังมีความเปราะบาง และขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์อย่างน้อยร้อยละ 1 ได้ ซึ่งหากอังกฤษออกจากอียูอาจทำให้เศรษฐกิจของยุโรปทรุดตัวลง และส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ ทั้งสหรัฐฯ และจีน และในกรณีเลวร้ายจะส่งผลเสียกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น หากประเทศอื่นในอียูทำการลงประชามติเพื่อออกจากอียูด้วย

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยอ้อมกับการส่งออกของไทย และอาเซียนให้ชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ และการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวตาม ดังนั้น สิ่งที่ไทยจะต้องรับมือ คือ การดูแล และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยการเร่งลงทุน และเบิกจ่ายภาครัฐให้มากขึ้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจต้านทานปัจจัยภายนอกที่จะเข้ามากระทบให้ได้

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและตลาดทุน มองว่า เป็นเรื่องปกติที่ค่าเงิน และหุ้นในตลาดโลกจะผันผวน แต่จะผันผวนในช่วง 1-2 สัปดาห์เท่านั้น ในระยะยาวจะไม่กระทบมาก เพราะอังกฤษต้องใช้เวลาถึง 2 ปีก่อนเตรียมตัวออกจากอียู หากผลประชามติออกมาให้ออกจากอียู แต่สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไป คือ เสถียรภาพของอียูว่าจะเข้มแข็งต่อไปหรือไม่ หากประเทศอื่นอยากทำประชามติบ้าง ซึ่งหากเศรษฐกิจอียูมีปัญหาจะส่งผลโดยรวมต่อเศรษฐกิจโลกแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น