รอยเตอร์ - ปอนด์สเตอร์ลิงดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 31 ปี และหุ้นทั่วโลกเทกระจาดในวันศุกร์ (24 มิ.ย.) หลังจากชาวอังกฤษก่อความช็อกด้วยการลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป กระพือระลอกคลื่นความไม่แน่นอนแก่เศรษฐกิจโลก
ช่วงหนึ่งของการซื้อขาย ปอนด์สเตอร์ลิง ทรุดลงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แตะระดับต่ำสุดในรอบ 31 ปี และยูโรก็ดิ่งลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่ผลประชามติ Brexit สร้างความตกตะลึงแก่ตลาด
ตลาดหุ้นยุโรปร่วงลงตั้งแต่เปิดการซื้อขาย เคลื่อนไหวตามตลาดเอเชีย ทั้งที่ก่อนถึงวันลงประชามติ นักลงทุนต่างมองในแง่ดีว่า ชาวอังกฤษจะเลือกอยู่ในอียูต่อไป โดยเฉพาะจากผลสำรวจความคิดเห็นของหลายสำนักและตามความหมายของบริษัทรับพนันอย่างถูกกฎหมายหลายแห่ง
ดัชนี FTSE-100 ของลอนดอน ดิ่งลง 7.5 เปอร์เซ็นต์ หลังจากเปิดตลาด แต่ก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้าง หลัง นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอกว่า เขาจะลาออกจากตำแหน่ง
ในช่วงบ่าย ๆ ของวันศุกร์ (24 มิ.ย.) ตลาดหุ้นลอนดอนปรับลดอยู่ราว ๆ 3.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ตลาดอื่น ๆ ในยูโรโซน ทั้ง แฟรงก์เฟิร์ต และ ปารีส ต่างร่วงลงหนักกว่านั้น ขณะที่หุ้นภาคการเงินเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสาหัสที่สุด
ดาเนียล เวอร์นาซซา นักเศรษฐศาสตร์จากยูนิเครดิต รีเสิร์ช บอกว่า การที่ชาวอังกฤษโหวตปฏิเสธคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ “ไม่แปลกใจเลย ที่ผลประชามติเช้าวันนี้จะก่อคลื่นความช็อกไปทั่วตลาดการเงินโลก”
หลังจากขยับขึ้นเหนือ 1.50 ดอลลาร์ ค่าเงินปอนด์ก็ร่วงลงหนักอย่างฉับพลัน โดยช่วงหนึ่งของการซื้อขายลงไปอยู่ที่ 1.3229 ดอลลาร์ ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1985 ก่อนฟื้นตัวขึ้นมาเล็กน้อย
จอห์น ฮิกกินส์ จากแคปิตอล อีโคโนมิกส์ บอกว่า การฟื้นตัวของค่าเงินปอนด์ มีขึ้นจากเหล่าคณะกำหนดนโยบายโปรอียูได้เปลี่ยนถ้อยคำจากความหวาดวิตก มาเป็นการสร้างความอุ่นใจแก่นักลงทุน เกี่ยวกับช่วงเวลาแห่งการเจรจาที่ยาวนาน และรับประกันว่าการเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน
อย่างไรก็ตาม เหล่านักลงทุนก็ยังไม่หายช็อกต่อผลที่ออกมาผิดคาด ขณะที่ตลาดยุโรปและค่าเงินปอนด์ขยับขึ้นต่อเนื่องก่อนหน้าการลงประชามติ “มันดูน่ากลัว ผมไม่เคยพบเห็นอะไรเช่นนี้มาก่อนเลย” เจมส์ บัตเตอร์ฟิล หัวหน้าฝ่ายวิจัยและลงทุนของอีทีเอฟ ซิเคียวริตี บอกในกรุงลอนดอน ว่า “มีนักลงทุนจำนวนมากที่จะสูญเสียเงินมหาศาล” เขาเผยกับบลูมเบิร์กนิวส์
มีความหวาดหวั่นกันว่า สมาชิกอียูอื่น ๆ จะผลักดันจัดทำประชามติแบบเดียวกัน เสี่ยงเป็นภัยคุกคามอนาคตของกลุ่มนับตั้งแต่ก่อตั้งมาเมื่อเกือบ 60 ปีก่อน
ความกังวลนี้ฉุดให้ตลาดหุ้นอื่น ๆ ในชาติเศรษฐกิจทางใต้ที่อ่อนแอกว่าของยูโรโซน ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี สเปน และ กรีซ ต่างปิดลบเช่นกัน โดยเฉพาะกรีซ ที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด ร่วงลงมากกว่า 13 เปอร์เซ็นต์ “ชัยชนะของฝ่ายออกจากอียูเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สร้างความช็อกแก่ตลาดครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา” โจ รันเดิล จากอีทีเอ็ดซ์ แคปิตอล ระบุ