ส.ธุรกิจรับสร้างบ้าน ระบุเก็บภาษีที่ดินรกร้างตัดโอกาสคนซื้อที่ดินสร้างบ้านในอนาคต เล็งเสนอรัฐปรับลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินสำหรับผู้ซื้อที่ดินเพื่อการสร้างบ้านในอนาคต เหตุอัตราจัดเก็บที่ดินรกร้างสูงเกิน หวั่นอนาคตลูกค้าสร้างบ้านหายจากตลาด แม้ระยะสั้นจะส่งผลดีเร่งให้ผู้มีที่ดินสะสมนำที่ดินเก่าออกมาสร้างบ้าน แนะผ่อนปรนให้ประชาชนที่ดินเพื่อสร้างบ้าน สลักหลังโฉนดกำหนดระยะเวลาสร้างบ้าน หลังยื่นเรื่องก่อสร้างให้คืนภาษี พร้อมเดินหน้าเจรจาแบงก์พาณิชย์เพิ่มวงเงินสินเชื่อบ้านและตกแต่งเป็น 150% ของราคาหลักทรัพย์ จากปัจจุบันวงเงินที่ 130%
นายวิสิฐษ์ โมไนยพงศ์ กรรมการกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า สมาคมฯ เห็นด้วยต่อการบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อแก้ปัญหารการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินที่ถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าโดยไม่มีการใช้ประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีที่ดินที่ถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าในอัตราที่สูงเกินไปนั้นควรข้อยกเว้นเป็นกรณีไป เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินของเจ้าของที่ดินด้วย เช่น ในกรณีที่พ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ต้องการซื้อที่ดินไว้ให้ลูกหลานใช้ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในอนาคต ซึ่งเรื่องดังกล่าวสมาคมฯ เตรียมจะยื่นหนังสือเสนอต่อรัฐบาลให้มีการแก้ไขอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินที่ซื้อสำหรับการปลูกสร้างบ้านในอนาคต
“การจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้างในอัตราสูงนั้นเป็นการตัดโอกาสคนซื้อที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยในอนาคต เพราะในบางครั้งที่ดินมีราคาสูงผู้เป็นพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ ที่ต้องการซื้อเก็บไว้ให้ลูกหลานปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยในอนาคตนั้น ต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงต้องใช้เงินกู้เพื่อซื้อที่ดิน และต้องใช้ระยะเวลาในการผ่อนชำระ ซึ่งในระหว่างการผ่อนชำระอาจะไม่มีงบในการก่อสร้างหรือพัฒนาที่ดิน ทำให้ไม่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเกิดขึ้น เมื่อถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงมากๆ จะส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถซื้อหาที่ดินไว้ให้ลูกหลานในอนาคตได้ ดังนั้น รัฐบาลควรยกเว้น หรือผ่อนปรนจัดเก็บภาษีแก่คนกลุ่มนี้”
สำหรับกรณีของประชาชนที่ต้องการซื้อที่ดินเก็บไว้ให้ลูกหลานสร้างที่อยู่อาศัยในอนาคตนั้น รัฐบาลควรพิจารณาจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่ากรณีที่ดินที่ซื้อสะสม และถูกทิ้งร้างไม่ใช้ประโยชน์ ซึ่งในกรณีของผู้ซื้อที่ดินเพื่อใช้สร้างที่อยู่อาศัยในอนาคตให้ลูกหลานนั้น หน่วยงานรัฐอาจจะกำหนดให้มีการเซ็นสลักหลังโฉนดที่ดินว่า ต้องมีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในระยะกี่ปี และในช่วงที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ที่นั้นให้จัดเก็บภาษีไปตามปกติ และห้ามมิให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือในเชิงพาณิชย์ และเมื่อมีการนำที่ดินมาข้ออนุญาติปลูกสร้างบ้านให้รัฐดำเนินการคืนภาษี หรือลดหย่อนภาษีให้
ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในอัตราที่สูงนั้น ในระยะแรกจะส่งผลดีต่อธุรกิจรับสร้างบ้าน ทำให้กลุ่มผู้มีที่ดินสะสม และที่ดินเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นำที่ดินออกมาก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ลูกหลาน หรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยของตนเอง แต่ในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อตลาดโดยรวม ทำให้ประชาชนไม่มีที่ดินในการสร้างบ้าน หรือไม่สามารถซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านของตนเองได้ เนื่องจากราคาที่ดินมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายวิษิฐษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้กำหนดแพกเกจสินเชื่อที่อยู่อาศัยร่วมกับสถาบันการเงิน 4 แห่ง คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ใน 4 เรื่องคือ 1.แพกเกจสินเชื่อที่อยู่อาศัยวงเงิน 100% ของมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับผู้ใช้บริการปลูกสร้างบ้านกับบริษัทสมาชิกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน 2.การกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำรับลูกค้าที่ใช้แพกเกจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในการปลูกสร้างบ้านของบริษัทในสมาคมฯ ในระยะลอยตัวโดยให้เสียอัตราดอกเบี้ยในอัตรา MLR- จากปกติที่คิดอัตรา MLR+
3.การลดขั้นตอนในการตรวจความก้าวหน้างานก่อสร้างเพื่อเบิกจ่ายค่างวดงานก่อสร้างตามความก้าวหน้าให้มีงวดการเบิก-จ่ายที่ตรงกับงานการส่งงาน และ 4.การยื่นกู้สินเชื่อของลูกค้าในรูปแบบเฉพาะของสมาคมฯ ซึ่งให้ลูกค้สามารถยื่นแบบบ้านพร้อมใบเสนอราคาจากบริษัทรับสร้างบ้านของสมาคมฯ ได้โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการขอนุญาตในการก่อสร้างบ้าน
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ให้เพิ่มวงเงินกู้จาก 130% ของมูลค่าหลักทรัพย์คำประกัน เป็น 150% ของมูลค่าหลักทรัพย์ฯ โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อเคหะ ซึ่งมีอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยส่วนบุคคล เพื่อให้ลูกค้ามีวงเงินเหลือเพื่อใช้ในการตกแต่งบ้าน ซึ่งสมาคมฯ จะเร่งเจรจากับธนาคารไทยพาณิชย์ให้แล้วเสร็จก่อนงาน
"มหกรรมรับสร้างบ้าน Home Builder Expo 2016" ที่จะขึ้นในระหว่างวันที่ 18-21 ส.ค.นี้ ณ ห้องเพลนารี ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อนำแพกเกจเงินกู้ดังกล่าวมาใช้เป็นแคมเปญในงานดังกล่าว ซึ่งสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านจะร่วมออกบูทในงานดังกล่าวด้วย