KTBST มองแนวโน้ม SET สัปดาห์นี้จะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยต่างประเทศ แนะชะลอลงทุน ย้ายเงินพักสินทรัพย์ปลอดภัย ได้แก่ เงินดอลลาร์สหรัฐ ทองคำ และพันธบัตร โดยได้แรงหนุนส่วนหนึ่งมาจากเงินทุนที่กำลังท่วมตลาดว่า ต้องหาที่พักเงิน เผยต่างชาติเข้าซื้อพันธบัตรไทย 7 วันติดต่อกัน โดยมียอด net buy สูงถึง 6.3 หมื่นล้านบาท แต่กลับมียอดซื้อสุทธิในตลาดหุ้นเพียง 1.0 หมื่นล้านบาท แนะจับตา MSCI หากบรรจุหุ้นจีนเข้าคำนวณดัชนีฯ 15 มิ.ย.นี้ อาจดึงเงินลงทุนจากประเทศต่างๆ และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของเงินลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาในตลาดหุ้นไทยน้อยลงในอนาคต
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นในตอนนี้กำลังจับตามองตลาดเหตุการณ์สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมของธนาคารกลาง 3 แห่ง ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอังกฤษ ซึ่งโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในการประชุมสัปดาห์นี้มีค่อนข้างน้อย ด้วยปัจจัยต่างประเทศไม่เอื้อ แต่ของญี่ปุ่นนั้นอาจมีการพิจารณาเพิ่มวงเงิน QE เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินเยน และเรื่องการลงประชามติของคนอังกฤษ ในเรื่องที่จะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) ในสัปดาห์ถัดไป
จากผลสำรวจที่ Bloomberg รวบรวมมา มีผู้ต้องการออกจากอียู ขยับขึ้นไปเป็น 53% แล้ว และมีผู้อยู่ต่อ 47% ซึ่งความไม่แน่นอนในเรื่องเหล่านี้จะทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน หรือโยกเงินเข้าหาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเช่นเดียวกับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคาดว่า ทิศทางตลาดหุ้นจะมีความชัดเจนขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์นี้ หลังเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้บางเรื่องผ่านไปแล้ว โดยประเมินกรอบดัชนีฯ สัปดาห์นี้ไว้ที่ 1,420-1,451 จุด
ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะเป็นตัวแปรที่มีความเข้มข้นมาก คือ การลงประชามติของประชาชนอังกฤษ เพื่อตัดสินใจว่าจะให้อังกฤษเป็นสมาชิกกลุ่มอียูต่อไปหรือไม่ ที่จะเกิดขึ้น 23 มิ.ย.นี้ คะแนนที่ใกล้เคียงกันระหว่างผู้ต้องการออกกับผู้ต้องการอยู่ในอียูต่อ จึงประเมินว่า เวลานี้นักลงทุนไม่รู้ว่าโอกาสจะไปอยู่ในฝั่งไหน จึงเกิดความกังวล และกระทำในสิ่งที่ปลอดภัยไว้ก่อน คือ โยกเงิน และเก็งกำไรสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง คือ เงินดอลลาร์สหรัฐ ทองคำ และพันธบัตร โดยได้แรงหนุนส่วนหนึ่งมาจากเงินทุนที่กำลังท่วมตลาดว่าต้องหาที่พักเงิน
โดยจากปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตลาดพันธบัตรของไทยได้อานิสงส์ คือ มีการซื้อพันธบัตรของนักลงทุนต่างประเทศ 7 วันติดต่อกัน ด้วยการเข้าซื้อสุทธิ (net buy) ถึง 6.3 หมื่นล้านบาท แต่กลับมียอดซื้อสุทธิเพียง 1.0 หมื่นล้านบาท ในตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นการบ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นไทยแทบไม่ได้ประโยชน์จากเงินทุนไหลเช้าในช่วงนี้เลย ดังนั้น เราจึงคาดว่าภาพของตลาดแบบนี้จะยังคงข้ามมาถึงสัปดาห์นี้ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีอีกปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การที่ MSCI จะมีการเปิดผลการจัดกลุ่มหุ้น A-Shares ของจีนในการคำนวณดัชนี MSCI เช้า 15 มิ.ย.นี้ หากมีการบรรจุหุ้นของจีนเข้ามาในดัชนีฯ จะส่งผลให้หุ้นจีนมีความต้องการในตลาดมากขึ้น อาจดึงเงินลงทุนจากประเทศต่างๆ ไป เรามองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของเงินลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาในตลาดหุ้นไทยน้อยลงในอนาคต
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนนั้น เนื่องจากทิศทางตลาดหุ้นที่ถูกกดจากปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศจะทำให้มีแรงขายทำกำไรเข้ามาในตลาด ในภาพรวมๆ เราแนะนำให้ชะลอการลงทุน หรือเก็งกำไรช่วงสั้นๆ (ซื้อบ่าย ขายเช้า) ในหุ้นที่ข่าวบวก และเก็งผลประกอบการไตรมาสที่ 2 โดยหุ้นที่เราคาดว่านักลงทุนจะให้ความสนใจสำหรับการเก็งกำไรช่วงสั้นๆได้แก่ BANPU BCH
นายอำนาจ โงสว่าง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ปัจจัยพื้นฐาน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หุ้นที่ บล.เคทีบี ให้ความสนใจ คือ หุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง หลังจากรัฐบาลกำลังพิจารณานำโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน เข้าโครงการ Fast Track และคาดจะเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย คือ สายสีเหลือง สายสีชมพู และสายสีส้ม ได้ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งมองว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นในกลุ่มก่อสร้างได้
ขณะที่กลุ่มที่ราคาเริ่มฟื้น ได้แก่ BANPU หลังราคาถ่านหินขยับตัวขึ้นตามราคาน้ำมัน และหุ้น SUSCO จากการที่ผลกำไรไตรมาสที่ 1 ออกมาค่อนข้างดี และมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ปริมาณขายสูงขึ้นอย่างมาก กลุ่มที่กำไรมีการเติบโต คือ หุ้น ECF กำไรไตรมาส 1 โต 35% จากรายได้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์มากขึ้น และมีรายได้อื่นเข้ามาเสริม คือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น (1.5 MW) และร้านค้าปลีกภายใต้ชื่อ “Can Do” และกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนด้านเงินปันผลที่สูงกว่า 6% ไม่มีความเสี่ยงมาก คือ CFRESH และ DIF