อีไอซี ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 เป็น 2.8% จากเดิม 2.5% จากตัวเลขไตรมาสแรกที่ออกมาดีกว่าที่คาด และภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตดีตลอดทั้งปี เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัวได้ที่ 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นอัตราที่สูงกว่าที่คาดการณ์ โดยได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งการบริโภค และการลงทุนในโครงการขนาดเล็กที่เติบโตสูง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเติบโตเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และมาตรการเงินโอนให้แก่กองทุนหมู่บ้านเพื่อใช้ในการลงทุน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในงานสัมมนา “EIC Conference 2016: จับตาการลงทุนภาครัฐ-เอกชน…แรงส่งเศรษฐกิจระลอกใหม่” ณ ห้องคริสตัลฮอลล์ ชั้น 3 โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ว่าการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว และแรงสนับสนุนจากภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้สูงในไตรมาสแรกและยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยว และการใช้จ่ายต่อหัวที่เพิ่มขึ้น อีไอซีปรับประมาณการการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2559 เป็น 15% จากเดิม 9% ขณะที่การเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ และมาตรการสนับสนุนทางการเงินในภูมิภาคมีบทบาทอย่างมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก อีไอซี คาดว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ขณะที่ในส่วนของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงภายในประเทศ เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลง เนื่องจากมาตรการกระตุ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์บางส่วนที่ได้หมดอายุลง และงบประมาณด้านการบริโภค และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เหลือน้อยลงหลังจากเร่งใช้จ่ายไปแล้วในช่วงต้นปี นอกจากนี้ แรงกดดันด้านกำลังซื้อภาคเอกชนยังเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายของครัวเรือนมีแนวโน้มซบเซาจากการที่รายได้ของครัวเรือนได้รับผลกระทบจากจำนวนชั่วโมงการทำงานของแรงงานในหลายภาคส่วนที่ลดลง และยังได้รับผลกระทบจากรายได้ภาคเกษตรที่ตกต่ำจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังไม่ฟื้นตัว และจากภัยแล้งที่จะกระทบปริมาณผลผลิต ขณะเดียวกัน ภาระหนี้ครัวเรือนก็ยังอยู่ในระดับสูง อีไอซี เห็นว่า ความเสี่ยงด้านกำลังซื้อเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริโภคในประเทศฟื้นตัวได้ยาก และมีความอ่อนไหวต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
นอกจากนี้ ด้านความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกมีสูงขึ้น เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความอ่อนไหวมากขึ้นต่อการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเพิ่มเติมในปีนี้ ได้แก่ การกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของญี่ปุ่น และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ในส่วนของไทย อีไอซีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอยู่ที่ระดับ 1.5% และค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเช่นเดียวกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาคไปอยู่ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายปี 2559