สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เชื่อภาพรวมธุรกิจยังเติบโตแต่ไม่หวือหวา หวั่นผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็กคุมต้นทุนไม่อยู่ แนะเร่งสร้างแบรนด์ บริหารสภาพคล่อง ชูความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีอยู่เพิ่มรายได้เข้าองค์กร
ธุรกิจรับสร้างบ้านอาจไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเหมือนกับธุรกิจบ้านจัดสรร แต่หากมองในมุมการเติบโตแล้วดูเหมือนว่าจะเติบโตแบบเงียบๆ ไม่หวือหวา แต่ในเชิงการแข่งขันก็พบว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านมีการแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรงไม่แพ้ธุรกิจบ้านจัดสรร เพียงแต่หากเปรียบเทียบความเสี่ยงแล้วยังถือว่าต่ำ เพราะใช้เงินทุนไม่มากเมื่อเทียบกับธุรกิจบ้านจัดสรร
ทั้งนี้ ได้มีการประเมินกันว่า ในแต่ละปีการปลูกสร้างบ้านเอง (ไม่ผ่านโครงการจัดสรร) ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีมูลค่าราวๆ 4-5 หมื่นล้านบาท มีผู้ประกอบการรับสร้างบ้านทั้งใหญ่ และเล็กอยู่รวมนับร้อยราย ยังไม่รวมผู้รับเหมาทั่วไปมีอีกนับไม่ถ้วน ซึ่งผู้รับเหมาเหล่านี้ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่เกือบ 80% ที่เหลือราวๆ 20% เป็นของผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้าน
นายพิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA : Home Builder Association) กล่าวว่า ปัจจุบัน ภาพของธุรกิจรับสร้างบ้านมีความชัดเจน และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น ซึ่งต่างจากอดีตที่ภาพ และความรู้สึกของผู้บริโภคทั่วไปที่มีต่อผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านต่อผู้รับเหมาทั่วไปนั้นมักจะแยกไม่ค่อยออก เหมารวมเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งนี้ ที่ภาพธุรกิจรับสร้างบ้านมีความชัดเจนขึ้นนั้นมาจากปัจจัยหลักๆ ดังนี้ 1.ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านมีการสร้างแบรนด์ให้ตลาดผู้บริโภครับรู้มากขึ้น 2.คุณภาพงานก่อสร้าง 3.คุณภาพวัสดุที่ใช้ 4.ราคาก่อสร้างที่เหมาะสม และ 5.การรับประกัน รวมถึงการบริการทั้งก่อน และหลังการขาย
แนะเร่งสร้างแบรนด์ บริหารสภาพคล้อง เพิ่มรายได้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นธุรกิจที่มีอัตราการขยายตัวไม่หวือหวา แต่ก็เชื่อว่า ตลาดโดยรวมยังมีโอกาสขยายตัว เห็นได้จากประเภทที่อยู่อาศัยในตลาดบ้านสร้างเองมีราคาสูงขึ้น และตลาดใหญ่ขึ้น ประกอบกับทิศทางราคาเฉลี่ยต่อหลังของที่อยู่อาศัยในโครงการจัดสรรประเภทบ้านเดี่ยวในกรุงเทพฯ และปริมณฑลสูงขึ้น รวมถึงราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่งนั่นสะท้อนถึงโอกาสสำหรับก่อสร้างที่อยู่อาศัยในตลาดบ้านสร้างเองบนที่ดินของผู้บริโภคนั้นจะมีมากขึ้น
“ตลาดบ้านสร้างเองมีการแข่งขันรุนแรงมาก ดังนั้น การให้ความสำคัญด้านการสร้างแบรนด์ และการสร้างความน่าเชื่อถือควบคู่ไปกับคุณภาพของงานให้แก่กิจการมีความสำคัญยิ่ง ในขณะเดียวกัน การบริหารสภาพคล่องทางการเงินยังเป็นความท้าทายที่สำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรับสร้างบ้านขนาดกลาง และขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุนหมุนเวียน” นายพิชิต กล่าว
พร้อมขยายความว่า รูปแบบการรับรายได้ของธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นตามงวดงานดำเนินการก่อสร้าง ในขณะที่ต้นทุนการประกอบธุรกิจสูงขึ้น เช่น ค่าแรง วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ อีกทั้งหากในช่วงที่เหลือของปี 2559 หรือปีถัดๆ ไป ความคืบหน้างานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐมีมากขึ้น และเดินไปตามแผนงาน หรือนโยบาย ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างก็จะมีมากขึ้นตาม ผลที่ตามมาก็คือ ราคาวัสดุก่อสร้างอาจปรับเพิ่มสูงขึ้น หรืออาจเกิดปัญหาด้านเทคนิคสินค้าขาดตลาด จากปัจจุบัน ราคาเหล็กโรงงานใหญ่ (มอก.) ก็ได้ปรับขึ้นมาแล้วค่อนข้างมากถึง 18-19 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมเมื่อเดือนมกราคม 2559 ราคาซื้อขายกันอยู่ที่ราคา 14-15 บาทต่อกิโลกรัม อาจเป็นเหตุให้ราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดอื่นๆ ปรับตัวขึ้นตาม และก่อให้เกิดเป็นต้นเหตุให้ต้นทุนสูงขึ้นสำหรับธุรกิจรับสร้างบ้านตามมา และอาจส่งผลให้เผชิญต่อปัญหาขาดสภาพคล่องได้
ดังนั้น การบริหารจัดการจำนวนคนงาน และการสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างที่เหมาะสมเพื่อควบคุมต้นทุนการก่อสร้าง รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการก่อสร้างอย่างรวดเร็วตามระยะเวลาที่กำหนด จะช่วยแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่อง และสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตลาดผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้าน หรือที่อยู่อาศัยสามารถใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่เฉพาะด้านให้บริการที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มเติม เช่น เป็นที่ปรึกษา ตกแต่งภายใน ฯลฯ เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่กิจการได้สม่ำเสมอเพิ่มจากรายได้หลักที่ส่วนใหญ่ รายได้เข้าสู่กิจการจะเป็นไปตามงวดงานดำเนินการก่อสร้าง
พร้อมกันนี้ นายพิชิต ยังกล่าวในตอนท้ายว่า ผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านต้องนำเสนอจุดขายในด้านความยืดหยุ่นการให้บริการที่มากกว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และต้องตีโจทย์ความต้องการ และข้อจำกัดของลูกค้าแต่ละรายให้ออก ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งนี้ เพราะจากข้อมูลของสมาคมฯ นั้นพบว่า อันดับแรกๆ ที่ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกว่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้านปลูกบ้านให้ส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญต่อความน่าเชื่อถือ และความสะดวกรวดเร็ว ที่มีการทำงานอย่างเป็นระบบมากกว่าผู้รับเหมาทั่วไป เช่น การดำเนินการขออนุญาตด้านต่างๆ ต่อหน่วยงานราชการ ประสานงานด้านสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เป็นต้น